ธรรมมะ ย่อมคุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรม

วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

นิมิตเป็นอย่างไร ? ในทางสมาธิ





นิมิตเป็นอย่างไร ? ในทางสมาธิ




คำว่านิมิตในด้านจิตตภาวนานั้นประกอบด้วยอุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตนั้นเมื่อนักภาวนาเจริญภาวนาไปจนจิตสงบบ้างจะเห็นเป็นรูปบุคคลภายนอกเดินมาหรือผ่านมาให้เห็น อาจเป็นบุคคลที่ตายไปแล้วก็มีหรืออาจปรากฏเป็นครูบาอาจารย์รูปใดรูปหนึ่งผ่านมามากบ้างน้อยบ้าง บ้างก็เดินมาหาเราขณะเจริญภาวนาบ้าง ก็ปรากฏเห็นเป็นรูปภูเขา ห้องแถว โบสถ์ วิหาร ปฏิภาคนิมิต คือการปรากฏนิมิตภาพบุคคลวัตถุต่างๆ มานั่ง มาลอยอยู่ ลอยอยู่เฉพาะหน้าหรือตายลงเฉพาะหน้า เราจะกำหนดให้ภาพนั้นไกลออกไปก็ได้ กำหนดให้ภาพนั้นสิ่งของนั้นใกล้เข้ามาก็ได้ เพ่งให้ร่างกายเน่าเปื่อยเหลือแต่โครงกระดูกก็ได้ นึกต่อไปว่ารูปนี้จะเจ็บจะมีตายหรือไม่ ? นึกในใจว่าเขาตายรูปก็แสดงความตายลงไป เมื่อนึกในใจว่ารูปนี้จะเน่าเปื่อยไหม ? รูปนั้นก็จะเกิดความเน่าเปื่อยปรากฏให้เห็นขยายให้ใหญ่ให้เล็กก็ได้ตามต้องการ กำหนดให้เห็นอยู่ไกลๆ หรือใกล้ๆ บ้างก็ได้ บ้างก็ปรากฏเป็นรูปร่างที่น่ากลัวก็ให้ตั้งสติรู้เท่าทัน บางครั้งแลบลิ้นปลิ้นตา นั่นมิใช่เปรตมิใช่ผีเป็นเพียงสังขาร สัญญาของเราปรุงแต่งไปเอง เป็นสังขารภายนอกหลอกจิตใจตน มิใช่ของจริงของจังอะไร สักแต่ว่าเป็นรูปที่เห็นให้พิจารณารู้ว่าเป็นของไม่จริง เหมือนเราดูภาพยนตร์เมื่อมีนิมิตเกิดขึ้นให้ตั้งสติเกิดขึ้นให้ตั้งสติระลึกรู้แล้วให้วางเฉย กำหนดพิจารณารู้ว่านิมิตทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยงเป็นอนิจจัง เกิดจากสัญญาสังขารปรุงแต่งขึ้น ถ้าเห็นเป็นภาพสวยงามหรือน่าเกลียดน่ากลัวก็อย่ายินดียินร้ายเพียงแต่มีสติให้มั่นส่วนอสุภนิมิตนี้สำคัญเป็นสิ่งมีคุณค่าแก่นักภาวนา บางคนเกิดเห็นได้ง่ายพอจิตรวมลงไปก็เห็นร่างกายของตน (เรา) เป็นศพเน่าเปื่อยลงหมด ร่างกายเนื้อหนังเส้นเอ็นอวัยวะทั้งหลายผุพังสลายลงหมดเหลือแต่กระดูกนั่งอยู่ จากนั้นก็พิจารณาส่วนต่างๆ ของร่างกายสมาธิจะก้าวหน้า อสุภนิมิตนี้เป็นสักการบูชาของพระอริยเจ้า....ครั้นจะถามถึงว่านิมิตภาวนากับการนอนหลับฝันต่างกันอย่างไร? ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กล่าวว่านิมิตในภาวนามันชัดเมื่อจิตค่อยหรี่รวมลงมารู้สึก อยู่รู้อยู่เฉพาะใจ รวมเข้ามารู้สึกเบาเนื้อเบากาย เบาไปหมด แล้วพอจิตรู้ลงไปบางทีก็เกิดนิมิตพร้อมแสงสว่างพร้อม บางทีคลับคล้ายเหมือนจะหลับแล้วเกิดสว่างขึ้นเห็นรูปร่างต่างๆ แต่สติ(ความรู้สึกตน)มั่นอยู่ นิมิตสมาธิมีสติแต่ภาพที่เห็นเมื่อนอนหลับฝันไม่มีสติ นิมิตในสมาธิมีจิตสำนึกในสมาธิ...อสุภนิมิต หมายความเอาที่พิจารณาเห็นร่างกายของเราเน่าเปื่อยเป็นซากศพหรือเห็นร่างกระดูกหมดทั้งตัวหรือเห็นแต่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเน่าเปื่อย สภาพตามความเป็นจริงของสังขารร่างกายไม่ว่าจะเป็นเราเป็นเขาเป็นมนุษย์เป็นสัตว์ ที่สุดแห่งร่างกายจะย่อมเป็นเช่นนี้ เมื่อเห็นเช่นนี้จึงนับได้ว่าเป็นการเจริญสติวิปัสสนากรรมฐาน จิตรู้จิตเห็นด้วยปัญญาแห่งความเป็นจริง จิตย่อมเบื่อหน่ายคลายความหลงในรูปร่างเรารูปร่างเขา การเพียรจะอยู่ในอิริยาบถใดเดินจงกรมนั่งภาวนา ยืนภาวนา นอนภาวนา ทุกอิริยาบถให้มีสติรู้กับผู้รู้คือรู้ในองค์ภาวนา ในกรรมฐาน 40 อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมากสายปฏิบัตินิยมใช้สติอยู่กับองค์ภาวนา พุท-โธ อยู่ทุกอิริยาบถ พุทโธเป็นพุทธานุสสติการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การบำเพ็ญสติเอาชนะสังขารไม่ให้นึกให้คิดมุ่งแต่ความสงบอันเดียว เอาความสงบเป็นพื้นฐาน บางทีจิตมันไม่ยอมสงบมันรู้อยู่เฉพาะหน้าไม่ลงถึงใจ วิธีแก้ก็ให้กำหนดสติตามลมหายใจเข้าสู่ภายในกายให้ผู้รู้ไประหว่างจมูกกับลำคอว่าอยู่อย่างไรแล้วจึงกำหนดจิตสติตามรู้ไปในอวัยวะส่วนต่างๆ ยังภายในร่างกาย บางครั้งจิตไม่ลงจริงๆ รู้อยู่เฉพาะหน้า สติ(จิต) มีกำลังบ้างแล้วให้กำหนดเอาน้ำมันก๊าด น้ำมันเชื้อเพลิงราดให้เปียกชุ่มในเสื้อผ้าทั่วร่างกาย (กำหนดจิต) จุดไฟเผา เมื่อได้นิมิตเห็นไฟลุกพรึบขึ้นร่างกายก็ไหม้ การเดินจิตต่อไปให้พิจารณาตลอดตั้งแต่เท้ายันศีรษะโดยอนุโลมปฏิโลมทั้งหน้าทั้งหลัง อันนี้จะเป็นอสุภสัญญา ใช้สัญญาบางทีจิตก็สงบเป็นสมาธิจิตได้บ้างก็พิจารณาลอกเนื้อหนังให้พิจารณารู้ตามจริงมิใช่คาดคะเนให้พิจารณาเห็นเนื้อเลือดไหลแดงทั่วตัว พิจารณาเส้นเอ็นกำหนดจิตอันเป็นการท้าทายต่อ อำนาจกิเลสที่ได้ครอบครองหัวใจสัตว์โลก ให้ถูกครอบงำด้วยโมหะ ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลงมาเป็นเวลาช้านาน ความวุ่นวายสับสนปัญหาต่างๆ สารพัดเกิดมาจากที่ใด ก็เพราะความหลงในรูปในสัมผัสมีทิฐิมานะถือตัวถือตน นี่ก็ของกูนั่นก็ของกู สิ่งต่างๆในโลกนี้ต้องนำมาบำรุงบำเรอใส่กายโดยที่ไม่รู้จักอิ่มจักพอเป็นการพิจารณาธาตุขันธ์ร่างกายให้กำหนดจิตให้ควักเอาลูกตาออกมาพิจารณาดูอวัยวะต่างๆ ในร่างกายแล้วกระชากมันออกมา ดูซิมันจะเอากิเลสใดมาถือตนถือตัวหรือไม่ หากไม่กล้าก็แสดงว่าจิตยังมีกำลังอ่อนต่อกรก็ยังแพ้กิเลสอยู่นั่นเอง กำหนดให้รู้ดูให้เห็นตามสภาวะความเป็นจริง เราติดสักกายทิฐิคือยังติดยังหลงอยู่ในร่างกายของตน ทำอย่างนี้เป็นการพิจารณากำหนดให้รู้ว่ากายให้รู้ว่าสังขารร่างกายเราตายแตกดับปราศจากวิญญาณที่ครอบงำ ให้มีสติรู้กับผู้รู้จิตจะลอยเด่น พิจารณาให้รู้เห็นกำหนดดูให้เขาเอาไม้มาทำโลงใส่แล้วนำไปเผาไฟให้กำหนดดูให้เขาเอาไม้มาทำโลงใส่แล้วนำไปเผาไฟให้กำหนดดูว่าไฟที่ไหม้นั้นไหม่อย่างไร? ไหม้แขนขา ลำตัว ศีรษะ ดวงตามันแตกออกมาอย่างไร บางส่วนไม่ไหม้เขาก็เอาไม้แหย่ไปใส่เลือดพุ่งทะลักออก ผลสุดท้ายก็ถูกไฟไหม้จนหมดร่างกาย คงเหลือแต่เถ้าถ่านและอัฐิธาตุ กำหนดให้มีฝนตกใหญ่ๆ ลงชะลงมาให้รู้เห็นกระดูกสีขาว พระท่านก็ไปบังสุกุลล้างกระดูกเอาใส่ที่บรรจุเช่นผ้า ไม่นานวันผ้าที่ห่อกระดูกที่ทรุดสลายลงดิน ดินมันก็ทับถมไปกลบกระดูกที่เป็นเถ้าถ่าน มันก็กลายเป็นมีต้นไม้เถาวัลย์หญ้าเป็นป่าดงเหมือนเดิม ร่างกายของคนทุกคนมันไม่มีสาระแก่นสาร ธาตุดินมันก็เป็นธาตุดินอยู่อย่างนั้น ธาตุน้ำก็กลายเป็นน้ำไป ธาตุลมก็กลายเป็นลม ธาตุไฟก็กลายเป็นไฟในโลก พิจารณาในปัญญาให้รู้เห็นร่างกายของคนเราไม่ได้สาระแก่นสารใดๆ เลย จิตรู้จิตเห็นจิตคลายจิตละจากธาตุขันธ์ ร่างกายตัดขาดด้วยปัญญาในการสังหารกิเลสละความยึดมั่นถือมั่นในกายเหมือนบุคคลบ้วนน้ำลายลงพื้นแล้วฉันใด จิตนั้นก็ย่อมไม่แสวงที่จะเก็บน้ำลายนั้นนำมาดื่มกินฉันนั้น ปัญญาพิจารณารู้เห็นความเป็นจริง จิตไม่มีความสงสัยในคุณพระพุทธศาสนา จิตดวงนั้นที่อยู่ในกาย มีศีลตามวิสัยเพศตนสมบูรณ์ละความยึดมั่นในกายตน ละสักกายทิฐิ ตัดโทสะขาดจากจิต ความเป็นพระอริยบุคคล พระอริยสงฆ์ก็บังเกิดขึ้น อริยบุคคล พระโสดาบัน ย่อมบังเกิดประจักษ์แจ้งในใจของผู้นั้น ต่อไปจิตจะได้พิจารณาในการลดละในด้านกามคุณ โมหะ(ความหลงในภพในชาติ) เมื่อจิตยังมีกามราคะ จิตนั้นใจนั้นก็ย่อมมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ละกามราคะ ทำลายโมหะขาดสะบั้นจากจิตใจผู้ใด คุณธรรมพระอรหันต์อยู่มิไกล...สำหรับดวงจิตนั้น

ไม่มีความคิดเห็น: