ธรรมมะ ย่อมคุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรม

วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553

ความสัมพันธ์ระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระปัจเจกพุทธเจ้า


ในวรรณคดีพระพุทธศาสนาระบุไว้ บ่อยครั้งว่าพระปัจเจกโพธิสัตว์ เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง แต่ไม่อาจเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้นได้ แต่ในชาติต่อ ๆ มาจึงบรรลุปัจเจกโพธิญาณ แต่ในปัญจอุโบสถชาดก๘ เสนอความสัมพันธ์ที่กลับกันหรือตรงกันข้ามกัน คือ เสมือนหนึ่งว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอาจารย์ ส่วนพระโพธิสัตว์๙ เป็นศิษย์ พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือแก่พระโพธิสัตว์ขณะเป็นดาบสจนกระทั่งพระโพธิสัตว์นั้นสามารถข่มมานะ (ความถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่) ซึ่งขัดขวางมิให้ได้ฌานสมาบัติ
เรื่องย่อของชาดกนี้มีดังนี้ ในสมัยนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทราบความที่ดาบสนั้นมีมานะ ดำริว่า ดาบสผู้นี้มิใช่อื่นเลย ที่แท้เป็นหน่อเนื้อแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะบรรลุความเป็นสัพพัญญูในกัปป์นี้แหละ เราต้องข่มมานะของดาบสผู้นี้เสีย แล้วจึงมาจากป่าหิมพานต์ตอนเหนือ ขณะเมื่อดาบสนั้นกำลังนอนอยู่ในบรรณศาลานั่งเหนือแผ่นกระดานหินของดาบสนั้น ดาบสออกมาเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั่งเหนืออาสนะของตนอยู่ จึงเกิดความขุ่นเคืองใจเพราะความมีมานะ ปรี่เข้าไปหาตบมือตวาดว่า ฉิบหายเอ๋ย ไอ้ถ่อย ไอ้กาลกรรณี มานั่งเหนืออาสนะแผ่นกระดานนี้ทำไม ?
ต่อแต่นั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าจึงกล่าวกะดาบสนั้นว่า พ่อคนดี เพราะเหตุไรพ่อจึงมีแต่มานะ ? ข้าพเจ้าบรรลุปัจเจกโพธิญาณแล้วในกัปป์นี้เอง พ่อก็จะเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า พ่อเป็นหน่อเนื้อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บำเพ็ญบารมีมานานแล้ว ต่อไปจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อว่าสิทธัตถะ บอกชื่อ ตระกูล โคตร และพระอัครสาวกแล้วจึงแนะนำว่า พ่อยังจะมัวเอาแต่มานะ เป็นคนหยาบคายเพื่ออะไรเล่า? ข้อนี้ไม่สมควรแก่พ่อเลย
ดาบสนั้นแม้เมื่อท่านกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ยังไม่ไหว้ท่านอยู่นั่นเอง มิหนำซ้ำไม่ถามเสียด้วยว่า ข้าพเจ้าจักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อไร ? ครั้นพระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า เธอไม่รู้ถึงความเป็นใหญ่แห่งชาติและคุณของเรา หากเธอสามารถก็จงเที่ยวไปในอากาศเหมือนเราแล้วก็เหาะไปในอากาศโปรยฝุ่นที่เท้าของตนลงบนชฎาของดาบสนั้น ไปยังป่าหิมพานต์ตอนเหนือดังเดิม พอท่านไปแล้ว ดาบสมีความสลดใจคิดว่า ท่านผู้นี้เป็นสมณะเหมือนกัน มีสรีระหนัก ไปในอากาศได้ดุจปุยนุ่นที่ทิ้งไปในช่องลม เพราะถือชาติ เรามิได้กราบเท้าทั้งคู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ยังไม่ถามเสียด้วยว่า เราจักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อไร? ขึ้นชื่อว่าชาตินี้จะทำอะไรได้ ศีลและจรณะเท่านั้นเป็นใหญ่ในโลก ถ้าเรายังมีมานะอยู่ จักไปนรกได้ที่นี้เราข่มมานะไม่ได้ ก็จักไม่ไปหาผลไม้ เข้าสู่บรรณศาลาสมาทานอุโบสถเพื่อข่มมานะ นั่งเหนือกระดานเลียบเป็นกุลบุตรผู้มีญาณใหญ่ ข่มมานะได้ เจริญกสิณ ได้อภิญญาและสมาบัติ ๘ ตายไปอุบัติ ณ พรหมโลก


การบิณฑบาตโปรดสัตว์ของพระปัจเจกพุทธเจ้า

พระปัจเจกพุทธเจ้าดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหารบิณฑบาตที่ชาวบ้านถวาย เช่นเดียวกับนักบวชอื่น ๆ คัมภีร์พระพุทธศาสนาระบุว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าบิณฑบาตมิใช่เพื่อยังชีพเท่านั้น แต่ยังมุ่งให้ประชาชนมีโอกาสประสบกุศลผลบุญโดยการใส่บาตรท่าน
ทายกที่ถวายทานอย่างสมบูรณ์ คือครบทั้งสามกาล ก่อนถวายทานก็ดีใจ ขณะถวายทานมีจิตเลื่อมใส และถวายทานแล้วปลื้มใจไม่เสียดายไทยธรรมที่ถวายไปแล้ว สามารถพ้นจากอันตราย เราสามารถพบตัวอย่างของข้อนี้ได้จากเรื่องสังขพราหมณ์ ผู้มีชื่อเสียงทางบริจาคทาน ซึ่งวางแผนจะไปสุวรรณภูมิ เพื่อนำทรัพย์มาบริจาคคนยากจนและคนขัดสน
เรื่องย่อ มีดังนี้๑๐ ในสมัยนั้น มีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ณ ภูเขาคันธมาทน์ พิจารณาเห็นสังขพราหมณ์กำลังจะเดินทางนำทรัพย์มา จึงตรวจสอบว่า บุรุษนี้ไปหาทรัพย์ จะมีอันตรายในทะเลหรือไม่หนอ? ก็ทราบว่า จะมีอันตรายจึงคิดว่า บุรุษนั้นเห็นเราแล้ว จะถวายร่มและรองเท้าแก่เรา เมื่อเรืออัปปางกลางทะเล เขาจะได้ที่พึ่งด้วยอานิสงส์ที่ถวายรองเท้า เราจะอนุเคราะห์เขา แล้วเหาะมาลง ณ ที่ใกล้พราหมณ์ เดินเหยียบทรายร้อนเช่นกับถ่านเพลิงเพราะลมแรงแดดกล้า ตรงมาหาสังขพราหมณ์
สังขพราหมณ์นั้น พอเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้นเกิดความยินดีว่า บุญเขต (เนื้อนาบุญ) ของเรามาถึงแล้ว วันนี้เราควรจะหว่านพืช คือถวายทานลงในบุญเขตนี้ จึงรีบเข้าไปนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ เพื่ออนุเคราะห์ข้าพเจ้า ขอท่านได้ลงจากทางสักหน่อยแล้วเข้าไปที่โคนต้นไม้นี้ เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปที่โคนต้นไม้ ก็พูนทรายขึ้นแล้วเอาผ้าห่มปูลาดนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วล้างเท้าด้วยน้ำที่อบและกรองใสสะอาด ทาเท้าด้วยน้ำมันหอม ถอดรองเท้าที่ตนสวมออกเช็ด ทาด้วยน้ำมันหอมแล้วสวมรองเท้าให้พระปัจเจกพุทธเจ้า ถวายร่มและรองเท้าด้วยวาจาว่าท่านผู้เจริญขอท่านสวมรองเท้ากั้นร่มไปเถิด
พระปัจเจกพุทธเจ้า เพื่อจะอนุเคราะห์ สังขพราหมณ์จึงรับร่มและรองเท้า และเพื่อจะให้ความเลื่อมใสเจริญยิ่งขึ้นจึงเหาะไปภูเขาคันธมาทน์ให้สังขพราหมณ์แลเห็น
ด้วยอานิสงส์ของการถวายทานนั้น เมื่อเรืออัปปาง สังขพราหมณ์จึงได้รับการช่วยเหลือจากนางเทพธิดามณีเมขลา ผู้พิทักษ์รักษาทะเล และได้เรือแก้วหนึ่งลำ พร้อมทั้งทรัพย์สมบัติอีกเป็นอันมาก
แต่ถ้าทายกหลังจากถวายทานแล้ว เกิดความเสียดายไทยธรรมที่ถวายไปแล้ว อานิสงส์ของการถวายทานจึงไม่สมบูรณ์เต็มที่มัยหกสกุณชาดก๑๑ เล่าเรื่องเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี ซึ่งเกิดความเสียดายหลังจากถวายไทยธรรมแก่พระตครสิขีปัจเจกพุทธเจ้า
มีเนื้อหาย่อ ๆดังนี้:- ในสมัยอดีต เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี มีเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีผู้หนึ่ง ซึ่งไม่มีศรัทธา มีแต่ความตระหนี่ ไม่ได้ให้อะไรแก่ใคร ๆ ไม่สงเคราะห์ใคร ๆ วันหนึ่งเขาเดินทางไปเฝ้าพระราชา เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าตครสิขี กำลังเดินไปบิณฑบาต ไหว้แล้วจึงถามว่า ท่านผู้เจริญ ท่านได้ภิกษาแล้วหรือ? เมื่อท่านตอบว่า มหาเศรษฐี อาตมากำลังเดินไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่หรือ? จึงสั่งให้ชายคนหนึ่งว่า ไปเถิด เจ้าจงนำพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้ไปบ้านของเรา ให้ท่านนั่งบนแท่นของเรา แล้วให้บรรจุอาหารที่เขาเตรียมไว้สำหรับเราให้เต็มบาตรแล้วถวายไป ชายคนนั้นนำพระปัจเจกพุทธเจ้าไปเรือนแล้วให้นั่ง บอกให้ภรรยาเศรษฐีทราบ ให้บรรจุอาหารที่มีรสเลิศนานาชนิดให้เต็มบาตรแล้วถวายท่านไป ท่านรับภิกษาแล้วได้ออกจากนิเวศน์ของเศรษฐีแล้วเดินไปตามถนน เศรษฐีกลับจากพระราชวังเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าจึงไหว้แล้วถามว่า ท่านผู้เจริญท่านได้รับภิกษาแล้วหรือ? พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นตอบว่าได้แล้ว ท่านมหาเศรษฐี ปรากฏว่าเศรษฐีนั้นแลดูบาตรแล้วไม่อาจทำจิตให้เลื่อมใสได้ คิดว่าอาหารน ี้ ทาสหรือกรรมกรกินแล้วคงทำงานแม้ที่ทำได้ยาก น่าเสียดายหนอ ! เราเสื่อมเสียทรัพย์สินเสียแล้ว
ฉะนั้น เพราะการถวายภิกษาแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า เขาจึงได้รับทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก แต่ไม่อาจใช้สอยทรัพย์เหล่านั้นได้เพราะไม่สามารถทำอปรเจตนา คือเจตนาดวงหลัง ให้ประณีต หมายถึงว่า ถวายภิกษาแล้วเกิดความเสียดายในไทยธรรมที่ถวายไป


มติของอรรถกถาเกี่ยวกับคุณธรรม และความรู้



ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระปัจเจกพุทธเจ้า, และพระสาวก

ปรมัตถโชติกา ๑๒ ได้แบ่งประเภทของสรรพสัตว์ ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับสูงไว้ดังนี้:-
สัตว์ที่มีวิญญาณมี ๒ ประเภท คือ สัตว์ดิรัจฉานและมนุษย์
มนุษย์มี ๒ เพศ คือสตรีและบุรุษ
บุรุษมี ๒ ประเภท คือ ปุถุชนและนักบวช
นักบวชมี ๒ ประเภท คือเสขะและอเสขะ
อเสขะมี ๒ ประเภท คือ สุกขวิปัสสกะ (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน แล้วจึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ มิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่นอีก) และสมถยานิก (ผู้เจริญสมถกรรมฐานจนได้ฌานก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนาต่อ)
สมถยานิกมี ๒ ประเภท คือ ที่บรรลุสาวกบารมีและไม่บรรลุสาวกบารมี
กล่าวกันว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศกว่าผู้ที่บรรลุสาวกบารมี (พระสาวก) เพราะเหตุไรจึงเลิศกว่า? เพราะมีคุณมาก พระสาวกหลายร้อยรูป แม้เช่นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นต้น ก็ไม่ถึงแม้ส่วนแห่งร้อยคุณของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์เดียว แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศแม้กว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะเหตุไร? เพราะมีคุณมากถ้าว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั่งขัดสมาธิเบียดกันทั่วทั้งชมพูทวีปก็ไม่เท่าส่วนเสี้ยวแห่งคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว
ปรมัตถโชติกา๑๓ ซึ่งบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับพระปัจเจกพุทธเจ้าไว้เป็นอันมาก บรรยายถึงความแตกต่างทางด้านความรู้ระหว่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกไว้ดังนี้:-
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสรู้ได้เองและทรงสอนให้บุคคลอื่นรู้ตามได้อีกด้วย (จนกระทั่งถึงบรรลุมรรคผลนิพพาน)
พระปัจเจกพุทธเจ้า ตรัสรู้ได้เอง แต่ไม่อาจสอนให้บุคคลอื่นรู้ตามได้ แทงตลอดอรรถรสเท่านั้น ไม่สามารถแทงตลอดธรรมรสได้ เพราะว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่อาจเพื่อจะยกโลกุตตรธรรมเป็นบัญญัติขึ้นแสดงได้ การบรรลุธรรมจึงมีแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหมือนความฝันที่คนใบ้ฝัน เหมือนรสกับข้าวที่พรานป่าได้ลิ้มในเมืองฉะนั้น
พระปัจเจกพุทธเจ้า บรรลุธรรมทั้งหมดรวมถึงฤทธิ์ สมาบัต ิ และปฏิสัมภิทา มีคุณพิเศษต่ำกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เหนือกว่าพระสาวก ให้บุคคลอื่นบวชได้ ให้ศึกษาอภิสมาจาร ด้วยอุเทศนี้ว่า พึงขัดเกลาจิต ไม่พึงท้อถอย หรือทำอุโบสถโดยเพียงพูดว่า วันนี้อุโบสถ และเมื่อทำอุโบสถประชุมกันทำ ณ รัตนมาลา โคนต้นไม้มัญชุสา ในภูเขาคันธมาทน์
สรุปได้ว่า เมื่อพิจารณาไม่ว่าด้านคุณธรรม หรือความรู้ พระปัจเจกพุทธเจ้าเหนือกว่าพระสาวก แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเหนือกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า


วิถีชีวิตของพระปัจเจกพุทธเจ้า:การดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว

คุณลักษณะพิเศษที่สำคัญประการหนึ่งของพระปัจเจกพุทธเจ้าคือ การดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือการดำเนินชีวิตอยู่เพียงลำพัง (เอกะ) ในวรรณคดีพระพุทธศาสนาเปรียบเทียบการดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหมือนกับนอแรด (ขคฺควิสาณกปฺโป) ๑๔ ซึ่งแรดของอินเดียมีเพียงนอเดียว ส่วนแรดในประเทศอื่นมี ๒ นอก็มี แต่กระนั้นก็ตาม พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ต้องมาประชุมพร้อมกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน คือในวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ใหม่อุบัติขึ้นและในวันอุโบสถ
คงเห็นแล้วว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น มิได้หลีกเร้นหนีสังคมแต่ประการใด เมื่อมีกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกัน ท่านก็มาประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน ปุถุชนธรรมดาไม่อาจที่จะเข้าใจวิถีชีวิตดังกล่าวของพระปัจเจกพุทธเจ้าได้อย่างลึกซึ้งเพียงพอ
ถือได้ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า ชื่อว่าผู้เดียวหรือผู้ดำเนินชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยเหตุ ๙ ประการ คือ:-
๑. ชื่อว่าผู้เดียว เพราะการบรรพชา หมายถึงว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ตัดกังวลในฆราวาส, บุตร, ภรรยา, ญาติและการสะสมสมบัติ ปลงผมและหนวดแล้ว ครองผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิต เข้าถึงความเป็นผู้ไม่กังวล เป็นผู้เดียวเที่ยวไป
๒. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะไม่มีเพื่อน (เมื่อถึงฐานะเช่นนั้นแล้วไม่ต้องการเพื่อน) หมายถึงว่าพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้เดียวอาศัยที่อยู่คือป่าและป่าชัฏอันสงัด มีเสียงน้อยปราศจากเสียงกึกก้อง ปราศจากลม อยู่โดดเดี่ยวไกลจากพวกมนุษย์สมควรแก่การหลีกเร้น เดินผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียว นั่งในที่ลับผู้เดียว อธิษฐานจงกรมผู้เดียว เป็นผู้เดียวเที่ยวไป
๓ เป็นผู้เดียวเพราะละตัณหา หมายถึงว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ประมาทมีความเพียร ส่งจิตไปอยู่ กำจัดมารและเสนามาร ละตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ
๔. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะปราศจากราคะแน่นอน
๕. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะปราศจากโทสะแน่นอน
๖. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะปราศจากโมหะแน่นอน
๗. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะหมดกิเลสแน่นอน
๘. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะดำเนินสู่ทางเป็นที่ดำเนินไปผู้เดียว (เอกายนมรรค) เอกายนมรรคนั้น หมายถึง สติปัฏฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ (คือโพธิปักขิยธรรม)
๙. ชื่อว่าผู้เดียวเพราะตรัสรู้ปัจเจกโพธิญาณอันยอดเยี่ยมผู้เดียว หมายถึงว่า รู้แจ้งไตรลักษณ์, ปฏิจจสมุปบาท, อริยสัจสี่นั่นเอง


บทสรุป

บางคนอาจมีความกังขาว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงหรือไม่? ขอเฉลยว่าพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง และมิใช่มีเพียงองค์เดียวเท่านั้นในช่วงเวลาหนึ่ง แต่มีเป็นจำนวนมาก ไม่เหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีองค์เดียวเท่านั้น ในช่วงเวลาหนึ่งในที่นี้ขอยกตัวอย่างรายชื่อของพระปัจเจกพุทธเจ้าในอดีตเฉพาะองค์สำคัญที่พบในพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามาเสนอไว้ เช่น พระตครสิขี พระอุปริฏฐะ พระมหาปทุม พระมาตังคะ เป็นต้นนอกจากนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตก็ยังมีปรากฏให้เห็น อาทิเช่น พระอัฏฐิสสระ ซึ่งก็คือพระเทวทัต ก่อนจะมรณภาพโดยถูกแผ่นดินสูบ ขอถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน คือพระโคตมะ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ด้วยกระดูกพร้อมด้วยลมหายใจ ด้วยอานิสงส์ดังกล่าว จึงทำให้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตได้
อนึ่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จำเป็นต้องบำเพ็ญบารมีเป็นเวลานานมาก อาจทำให้คนที่ปรารถนาตำแหน่งดังกล่าว เกิดความท้อถอย คลายความเพียรได้ แต่ถ้าจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมี โดยใช้เวลาเพียงครึ่งหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: