ธรรมมะ ย่อมคุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรม

วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การกำหนดรู้ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ


สุวรรณภูมิแผ่นดินทอง หรือประเทศไทยแห่งนี้เป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ตั้งของศาสนาพุทธมายาวนาน เป็นดินแดนที่มีพระมหากษัตริย์ที่เป็นพุทธมามะกะผู้ทรงทศพิศราชธรรมเป็นพระประมุขต่อเนื่องมายาวนานและจะมีตลอดไป ความเป็นชาติไทยจึงประกอบไปด้วยชาติ คือประชาชน ศาสนาคือพุทธเป็นหลัก และพระมหากษัตริย์ผู้ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์ของพุทธศาสนา องค์ประกอบทั้งสามส่วนนี้เป็นลักษณะพิเศษที่มีแห่งเดียวในโลก อันจะก่อให้เกิดความสงบ ร่มเย็นต่อประชาชนทุกคน และเป็นรากฐานต่อการตั้งมั่น การเจริญของศาสนาพุทธตลอดมา ทำให้ดินแดนแห่งนี้มีผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนาพุทธบรรลุมรรคและผลอันได้แก่ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และอรหันต์ ต่อเนื่องกันมาตลอดไม่ขาดสาย โดยจำนวนคนที่บรรลุมรรคผลขั้นต้นนั้นจะเป็นโยมเสียส่วนใหญ่ ส่วนมรรคผลขั้นสูงนั้นผู้บรรลุเป็นพระสงฆ์เสียส่วนมาก อย่างไรก็ตามประเทศไทยแห่งนี้ไม่เคยขาดจากอริยะบุคคล ซึ่งถ้าดินแดนแห่งไดมีพระอริยะบุคคลอยู่ ดินแดนแห่งนั้นจะไม่ฉิบหายจากภัยสงครามอย่างแน่นอน เพราะอำนาจแห่งความร่มเย็นนั้นเอง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ก็เป็นพระอริยะเจ้าอีกองค์หนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในดินแดนแห่งนี้ช่วงกึ่งอายุของศาสนาคือประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ หลายคนคงรู้จักท่านดี เพราะบรรดาพระป่าสายวิปัสสนาทั้งหลายที่เป็นอาจารย์สั่งสอนอยู่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากท่านทั้งนั้น ลักษณะการกำเนิดขึ้นของพระอาจารย์มั่นและการสั่งสอนศิษย์ทั้งหลายนั้นมีความเป็นสำนัก คือมีระบบแบบแผน จึงทำให้มีการสืบต่อของการปฏิบัติและคำสั่งสอนผ่านผู้ได้รับการอบรมมาเป็นทอดๆ ไม่เหมือนกับพระอาจารย์องค์อื่นๆที่เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็เกือบจะไม่เห็นการสืบต่อเลยถ้าพิจารณาดีๆ จะเห็นว่าสำนักพระอาจารย์มั่นเป็นเหมือนพุทธภูมิย่อยถือกำเนิดมาสืบต่อการปฏิบัติที่ถูกต้องของศาสนาพุทธออกไปอีก ศิษย์สายหลวงปู่มั่นผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่รู้ดี และรู้ด้วยว่าพระอาจารย์มั่นนั้นสร้างบารมีทำความดีเพื่อปรารถนาจะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้ามายาวนาน หลายกัปหลายกัลป์ มีผู้เกิดร่วมชาติและทำความดีร่วมกับท่านเยอะ อันได้แก่ศิษย์ของท่านทั้งหลายนั้นเอง บารมีท่านมีมากแต่ก็ยังไม่พอจะมาเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อตั้งศาสนาพุทธเอง ชาติสุดท้ายท่านมาเกิดกึ่งศาสนาพุทธที่สุวรรณภูมิแห่งนี้ ท่านได้หักตัวและดีดออกจากความปรารถนาเพื่อพุทธภูมิกล่าวคือ เลิกปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านั้นเองเพราะเห็นว่าต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีกนาน จึงขอปฏิบัติให้หลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ในศาสนาพุทธของสมนะโคดมในชาติสุดท้าย ซึ่งก็สำเร็จเป็นจริงตามนั้น แต่เนื่องจากปรารถนาพุทธภูมิมายาวนานมีพุทธบารมีมาก (ถึงแม้จะไม่มากพอเป็นพระพุทธเจ้า) ท่านพระอาจารย์มั่นจึงมีพุทธลักษณะบางส่วนอยู่ในองค์ท่าน เพื่อสั่งสอนอบรมศิษย์และประดิษฐานพระศาสนาให้ยาวนานออกไป เป็นคุณธรรมพิเศษ ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติสมาธิจิตจะรู้ดี ลักษณะของท่านต่างจากพระอรหันต์เจ้าบางองค์ซึ่งไม่ค่อยสั่งสอนและวางระบบมากนักซึ่งนั้นก็เป็นเพราะบารมีท่านเหล่านั้นสร้างมาอย่างนั้น ส่วนพระอาจารย์มั่นมีคุณธรรมพิเศษที่ใช้กำหนดรู้เพื่อสั่งสอนศิษย์ คนทั่วไป รวมทั้งผู้ไม่มีร่างทั้งหลายอันได้แก่ พรหม เทวดา เป็นต้น จากที่ได้ศึกษาและสดับตรับฟังมา พระอาจารย์มั่นทำสมาธิวิปัสสนาเพื่อการหลุดพ้น เพื่อการสิ้นภพสิ้นชาติ โดยเริ่มจากให้จิตเห็นสิ่งต่างๆ ตามสภาพความจริงของมัน ไม่มีการปรุงแต่ง เพื่อให้จิตยอมรับและเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในกาม และความหลงผิดทั้งหลาย สุดท้ายจิตก็จะสลัดสิ่งจอมปลอมทั้งหลายออกไปจนหมด แล้วบรรลุถึงแดนเกษม ประวัติการปฏิบัติธรรมของท่านเอาจริงเอาจัง ไม่ท้อถอย เอาชีวิตเข้าแลก จิตของท่านมีการรวมสงบใหญ่ๆ อยู่ ๔ ครั้ง คือการบรรลุมรรคผลทั้ง ๔ ขั้น นั้นเอง (อ่านได้จากหนังสือรำลึกวันวาน เขียนโดยหลวงตาทองคำ จารวัณโน) ครั้งสุดท้ายพระอาจารย์สำเร็จธรรมขั้นสูงสุดในศาสนาพุทธ เป็นพระอริยะเจ้าผู้สิ้นกิเลสและอาสวะทั้งปวงโดยได้คุณสมบัติพิเศษที่รองจากจตุปฏิสัมภิทาญาณ เพิ่มเข้ามาด้วยคือท่านได้ ปฏิสัมภิทานุสาสน์ หรือ จตุปฏิสัมภิทานุโลมญาณก็ว่าได้ (เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์ผู้ที่ได้จตุปฏิสัมภิทาญาณไม่เต็มเปี่ยม: จากหนังสือบูรพาจารย์ พิมพ์โดยมูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ) กล่าวคือ ท่านพระอาจารย์มั่นฉลาดรู้ในเทศนาวิธีและอุบายทรมานแนะนำสั่งสอนสานุศิษย์ให้เข้าใจในพระธรรมวินัย และอุบายฝึกจิตใจ ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ท่านได้พยายามศึกษาสำเนียงวิธีเทศนาอันจะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ฟัง และเกิดความรู้ขึ้นว่า วิธีการเทศนานั้นต้องประกอบด้วย ๓ ขั้นตอนคือ๑. อุเทศ คือกำหนดหัวข้อธรรมที่พึงจะยกขึ้นแสดงต่อผู้ฟังนั้นๆ โดยการทำความสงบใจหน่อยหนึ่ง ธรรมใดที่เหมาะแก่จริตนิสัยของผู้ฟังคนนั้น กลุ่มนั้น ที่มาคอยฟังอยู่ขณะนั้น ก็จะผุดขึ้นมาในใจท่าน และท่านก็จะเอาหัวข้อธรรมบาลีที่ผุดขึ้นมานั้นเป็นหัวข้อสอน๒. นิเทศ คือเนื้อความเพื่ออธิบายความของอุเทศนั้นให้กว้างขวางออกไปตามสมควร เมื่อเนื้อความปรากฏขึ้นแจ่มแจ้งแก่ใจอย่างไรในขณะที่จิตสงบนั้น ท่านจะต้องแสดงออกไปอย่างนั้น๓. ปฏินิเทศ คือการย่อใจความเพื่อให้ผู้ฟังจำได้ จะได้นำไปไตร่ตรองในภายหลังวิธีการเทศนาของท่านพระอาจารย์มั่นเป็นไปตามหลักดังกล่าวนี้ หัวข้อธรรมบาลีอุเทศที่ท่านยกมาแสดงบางประการ ท่านไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก่อน แต่มาปรากฏขึ้นขณะที่ท่านทำจิตให้สงบในเวลาที่ท่านแสดงธรรมนั้นเอง จึงสมกับคุณสมบัติพิเศษของปฏิสัมภิทานุสาสน์โดยแท้ คือเป็นการแสดงธรรมด้วยปฏิภาณญาณจริงๆ จึงถูกกับจริตนิสัยของผู้ฟัง ทำให้ผู้ฟังเกิดความสว่างแจ่มใสเบิกบานใจและเกิดฉันทะในการที่จะประพฤติปฏิบัติศีลธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นผลให้ผู้ปฏิบัติที่ได้รับการสั่งสอนจากท่านสำเร็จมรรคผลจริงๆ นอกจากนี้แล้วพระอาจารย์มั่นยังอาศัยอำนาจจิตอันสะอาดและสงบ กำหนดรู้สิ่งต่างๆ โดยวิธีการ ๓ วิธี ที่เรียกว่า ไตรวิธญาณ ดังนี้


ไตรวิธญาณ

ท่านพระอาจารย์มั่นสามารถกำหนดจิตรู้สิ่งต่างๆ เช่น จิต นิสัย วาสนาของคนอื่นๆ หรือเทวดา ด้วยวิธีการกำหนดจิตอย่างไดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่างนี้คือ๑. เอกวิธัญญา กำหนดจิตพิจารณากายนี้อันปรากฏชัด จิตวางอุคคหนิมิตรวมลงถึงฐีติจิต คือ จิตดวงเดิมแล้วพักจิตอยู่พอประมาณ แล้วให้จิตถอยออกมาพักเพียงอุปจาระก็ทราบได้ว่า เหตุนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้๒. ทุวิธัญญา ปฏิบัติเหมือนข้อ ๑ พอจิตถอยออกมาถึงขั้นอุปจาระจะปรากฏนิมิตภาพเหตุการณ์นั้นๆ ขึ้น ต้องวางนิมิตนั้นเข้าจิตอีกครั้งหนึ่ง ครั้นถอยออกมาอีกก็จะทราบเหตุการณ์นั้นๆได้๓. ติวิธัญญา ปฏิบัติเหมือนข้อ ๑ พอจิตถอยออกมาถึงขั้นอุปจาระจะปรากฏนิมิตภาพเหตุการณ์นั้นขึ้น ต้องวิตกถามเสียก่อนแล้วจึงวางนิมิตนั้น แล้วเข้าจิตอีก ถอยออกมาถึงขั้นอุปจาระ ก็จะทราบเหตุการณ์นั้นได้ ความรู้ด้วยวิธี ๓ ประการนี้ ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวว่า จิตที่ยังเป็นฐีติขณะเป็นเอกัคคตามีอารมณ์เดียวที่มีแต่สติกับอุเบกขาจึงไม่สามารถทำให้ทราบเหตุการณ์ต่างๆได้ ต้องถอยจิตออกมาอยู่เพียงขั้นอุปจาระจึงจะมีกำลังรู้ได้ แต่หากถอยออกมามากเกินไปถึงขั้นขณิกะหรือจิตธรรมดาก็ทราบเหตุการณ์ไม่ได้เหมือนกัน เพราะกำลังจิตอ่อนเกินไปท่านพระอาจารย์มั่นอาศัยไตรวิธญาณจากอำนาจจิตอันสะอาดและสงบ เป็นกำลังในการหยั่งรู้ หยั่งเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต และกำหนดรู้จิตใจ นิสัย วาสนาของศิษยานุศิษย์ พร้อมทั้งอุบายวิธีทรมานสั่งสอนศิษยานุศิษย์ด้วยปรีชาญาณหยั่งรู้โดย ๓ วิธีนี้ จึงเกิดผลสำเร็จในการสั่งสอนและเผยแผ่หลักการปฏิบัติศาสนาพุทธที่ถูกต้อง ที่มุ่งเน้นความสงบ ความสุข ความหลุดพ้น สมควรจะเป็นเนติของผู้จะเป็นครูอาจารย์ของผู้อื่นต่อไป

อานิสงส์การสร้างกุฎีวิหาร


ในกาลครั้งหนึ่งนั้น สมเด็จพระบรมศาสดา เสด็จประทับอยู่ ณ ลัฎฐิวันสวนตาลหนุ่มพระองค์เที่ยวโปรดเวไนยสัตว์ให้ได้มรรค 4 ผล 4 ในครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสาร ได้ครองราชสมบัติที่กรุงราชคฤห์ก็มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าแล้วก่อสร้างกุฎีวิหารในพระราชอุทยานเวฬุวันสวนป่าไม้ไผ่ให้เป็นวัดแรกในพุทธศาสนาถวายแก่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าพร้อมกับภิกษุสงฆ์ 500 รูป พร้อมกับถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน สมเด็จพระบรมศาสดา พร้อมกับภิกษุสงฆ์เส็รจภัตตากิจเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าพิมพิสารทูลถามว่า "ภนฺเต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญสาธุชนทั้งหลายมีใจศรัทธา ปสันนาการ เลื่อมใสการก่อสร้างกุฎีวิหารถวายเป็นสังฆทานนั้น จะได้ผลานิสงส์เป็นประการใด ขอให้พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้ข้าพุทธเจ้าพร้อมบริษัททั้งหลายให้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า"องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาว่า "ดูกรมหาบพิตรพระราชสมภาร บุคคลผู้ใดมีจิตศรัทธาเลื่อมใสพระรัตนตรัยแล้วก่อสร้างกุฎีวิหารศาลาคูหาน้อยใหญ่ถวายเป็นทานจะประกอบด้วยผลอานิสงส์มากเป็นเอนกประการนับได้ถึง 40 กัลป์"พระองค์ทรงนำอดีตนิทานมาเทศนาต่อไปว่า ในอดีตกาลล่วงมาแล้ว พระพุทธเจ้ายังมิได้อุบัติบังเกิดในโลกยังศูนย์เหล่าอยู่สิ้นกาลช้านาน ในระหว่างนั้นพระปัจเจกโพธิเจ้าทั้งหลาย ก็ได้บังเกิดตรัสรู้ในโลกนี้ เมื่อพระปัจเจกโพธิเจ้าก็อาศัยในป่าหิมพานต์ อยู่มาวันหนึ่งมีความปรารถนาเพื่อจะมาใกล้หมู่บ้านอันเป็นว่านแคว้นกาสิกราชมาอาศัยอยู่ในรายป่าแห่งหนึ่งแถบใกล้บ้านนั้น มีนายช้างคนหนึ่งอยู่ในหมู่บ้านนั้น ก็ไปป่ากับลูกชายของตน เพื่อจะตัดไม้มาขายกินเลี้ยงชีพตามเคย ก็แลเห็นพระปัจเจกโพธิเจ้านั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ พ่อลูกสองคนก็เข้าไปใกล้น้อมกายถวายนมัสการแล้ว ทูลถามว่าข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าจะไปไหน จึงมาอยู่ในสถานที่นี้ พระปัจเจกโพธิ จึงตอบว่า "ดูกรอาวุโส บัดนี้จวนจะเข้าพรรษา" นายช่างก็อาราธนาให้อยู่จำพรรษาในที่นี้พระปัจเจกโพธิทรงรับด้วยการดุษณียภาพสองคนพ่อลูกก็ดีใจ จึงขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าเข้าไปสู่เรือน ถวายบิณฑบาตทานแก่พระปัจเจกโพธิสองคนพ่อลูกก็เที่ยวตัดไม้แก่นมาทำสร้างกุฎีวิหารที่ริมสระโบกขรณีใหญ่และทำที่จงกรมเสร็จแล้ว จึงได้ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าจงอยู่ให้เป็นสุขเถิดพระเจ้าข้า ครั้นพระปัจเจกโพธิได้รับนิมนต์แล้ว สองคนพ่อลูกตั้งปฎิธานความปรารถนาขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากทุกข์ยากไร้เจ็ญใจ และขอให้ข้าพเจ้าทั้งสองนี้ได้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพผู้ประเสริฐองค์หนึ่งเถิด พระปัจเจกโพธิก็รับอนุโมทนาซึ่งบุญนายช่างสองคนพ่อลูกอยู่จนสิ้นอายุขัยแล้วก็ทำกาลกริยาตายไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีวิมานทองเป็นที่รองรับและเทพอัปสรแวดล้อมเป็นบริวารเสวยทิพย์สมบัติอยู่ในสวรรค์สิ้นกาลช้านานจุติจากสวรรค์นั้นแล้ว ก็ไปบังเกิดเป็นราชบุตรของพระเจ้าสุโรธิบรมกษัตริย์ในเมืองมิถิลามหานคร ทรงพระนามว่ามหาปนาทกุมารๆเจริญวัยขึ้นได้เสวยราชสมบัติเป็นพระยาจักรพรรดิราช ด้วยอานิสงส์ที่ได้สร้างกุฎีวิหารถวายเป็นทานแก่พระปัจเจกโพธิ ครั้นตายจากชาติเป็นพระยามหาปนาทแล้ว ก็เวียนว่ายตายเกิดในมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ แล้วก็มาเกิดเป็นเศรษฐีมีทรัพย์ 80 โกฎิ อยู่ในภัททิยนครชื่อว่า "ภัททชิ"ก็ได้ปราสาท 3 หลังอยู่ใน 3 ฤดู ครั้นเจริญวัยได้บวชในศาสนาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในศาสนาของตถาคตดังนี้แล ส่วนเทพบุตรองค์พ่อนั้น ยังเสวยทิพย์สมบัติอยุ่ในวรรค์ช้านานจนถึงศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย์ลงมาตรัสสัพพัญญู เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในมนุษย์โลก ได้จุติลงมาปฏิสนธิในครรภ์พระอัครมเหสีสมเด็จพระเจ้ากรุงเกตุมวดี ทรงพระนามว่าสังขกุมาร ครั้นเจริญวัยแล้วก็ขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าสังขจักรบรมกษัตริย์ มีทวีปน้อยใหญ่เป็นบริวาร พระองค์จึงได้สละราชสมบัติบ้านเมืองออกไปบรรพชา ในสำนักพระศรีอริยเมตไตรย์กับทั้งบริวาร 1 โกฎิ ก็ได้ถึงอรหันต์ได้เป็นอัครสาวกเบื้องขวา ทรงพระนามอโสกเถระ ก็ด้วยอานิสงส์ได้สร้างกุฎีให้เป็นทานนั้นแล อันเป็นบุญให้ถึงความสุข 3 ประการ คือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ พระผู้เป็นเจ้าจงอยู่ให้เป็นสุขเถิดพระเจ้าข้า

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

กำลังสมาธิในการบรรลุธรรม


ในศาสนาพุทธ จำแนกพระอริยะ เป็น 2 แบบ 4 ประเภท คือพระเสขะ ผู้ที่ยังต้องศึกษาต่อ มีพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอเสขะ ผู้ที่ไม่ต้องศึกษาแล้ว มีพระอรหันต์

กำลังสมาธิในการบรรลุธรรมนั้น

* พระโสดาบันและพระสกทาคามี ใช้เพียงอุปจารสมาธิเป็นขั้นต่ำ
* ส่วนพระอนาคามีและพระอรหันต์ ใช้ปฐมฌานเป็นขั้นต่ำ

นี่เป็นสาเหตุที่พระอริยะจำนวนมากมายไม่มีฤทธิ์ เพราะผู้ได้ฤทธิ์อภิญญา จะต้องเป็นผู้คล่องในฌานสี่หรือสูงกว่าในขั้นอรูปฌาน พระอริยะเมื่อเห็นปรมัตถธรรมแล้ว ก็ไม่ค่อยนำพาต่อฤทธิ์เท่าใดนัก เพราะไม่ใช่ทาง นอกจากจะมีจริตฝักใฝ่เพื่อใช้ฤทธิ์ในประโยชน์ต่อไป

แม้จะเห็นว่าการบรรลุธรรมนั้นใช้สมาธิเพียงอุปจารสมาธิในอริยบุคคลขั้นต้น แต่อุปจารสมาธิก็ใช้ว่าจะเจริญได้ง่าย ยิ่งในยุคนี้.. ที่ผู้คนจิตใจฟุ้งซ่านไปด้วยความวิตกกังวล หรือลุ่มหลงไปกับความศิวิไลซ์ ทำให้ผู้ถึงธรรม นับวันจะน้อยลงไปทุกขณะ ทั้งที่ความรู้เรื่องศาสนาพุทธ มีให้ศึกษามากมาย เทียบกับสมัยก่อนแล้ว ไม่มีตำรา เพียงตั้งใจฟังพระพุทธเจ้าครั้งเดียว ก็สามารถเข้าสู่กระแสธรรมได้ แต่ตอนนี้ ทั้งตำรามากมาย เครื่องรางของขลังช่วยเหลือมีไม่จำกัด แต่ก็ดูเหมือนศาสนาพุทธจะกลายไปเป็นเพียงความรู้เสริมสมอง กลายเป็นพระเครื่องเฟื่องฟู หรือเป็นการนับถือพระนับถือเจ้าเพื่อวิงวอนร้องขอ ไม่ต่างไปจากศาสนาฮินดูเท่าไหร่

ธรรมะ ไม่ได้มีในผู้รู้แค่ตำรา บางคนเขียนหนังสือธรรมะวางขายไม่ใช่น้อย แต่ไม่สามารถหยุดใจให้ปล่อยวางได้ ทุกข์ไปกับราคะ-โทสะ-โมหะเสียจนเกินงาม เพราะธรรมะแต่มีเฉพาะนักปฏิบัติเท่านั้น ใครไม่รู้ตำราเลย แต่มีศีลมีธรรม หมั่นทำใจให้ว่าง แต่ไม่เขลาเบาปัญญา นั่นแล เป็นพุทธแท้

ก า ร เ จ ริ ญ ส ติ - ส ม า ธิ หรือภาวนา-สมาธิ หรือที่เรียกในสมัยก่อนว่า “สมาธิ-ภาวนา” ซึ่งนิยมมาเรียกกันว่า “วิปัสสนา” กลายเป็นวิปัสสนากรรมฐานที่มีหลายสำนักปฏิบัติ เปิดเป็นกรรมฐานรูปแบบต่างๆ ให้เลือกปฏิบัติได้ตามจริต ใครชอบอานาปานสติผสมการเคลื่อนไหว ก็ไปสายพองยุบได้ หรือไม่ชอบหลับตา ก็ไปสายแนวหลวงพ่อเทียนที่เน้นการเคลื่อนไหว โดยมีการคิดค้นท่าการเคลื่อนไหวที่ลงตัวเอาไว้ให้ปฏิบัติแล้ว

สมาธิ หมายถึง จิตใจแน่วแน่เป็นหนึ่ง ไม่แตกซ่าน จดจ่ออยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้
สติสัมปชัญญะ ทำงานร่วมกัน นิยมพูดด้วยคำสั้นๆ ว่าสติ ซึ่งก็หมายถึงสติสัมปชัญญะนั่นเอง สติ – หมายถึงการระลึกรู้ , สัมปชัญญะ – หมายถึงรู้ตัวทั่วพร้อม ...การเจริญสติ จึงหมายถึงทำความระลึกได้และรู้ตัวได้ ไม่หลงลืมตัวว่าทำอะไรอยู่หรือหลงตามความคิดไปไกลตัว การเจริญสติหรือการภาวนานั้น เป็นการกำหนดรู้รูปและนามด้วยการระลึกและรู้ตัวให้ได้โดยตลอด เสมือนเป็นการแต่งตั้งตัวรู้(สติ) เฝ้าตามรู้ตัวเอง รักษาไม่ให้ตกลงไปเป็นทาสอารมณ์กิเลส ที่เข้ามาจู่โจมตามความเคยชิน ที่เราทำมาอย่างคุ้นเคย จนกลายเป็นอนุสัยนอนเนื่อง ที่พร้อมปะทุขึ้นมาได้ทันที หากขาดสติ

การทำกรรมฐานแนววิปัสสนา มีทั้งแบบสมถวิปัสสนากรรมฐาน และแบบวิปัสสนากรรมฐาน

สมถวิปัสสนากรรมฐาน ..ที่จริงสมถกรรมฐานมีมานานก่อนศาสนาพุทธ หลังจากพุทธถือกำเนิด และใช้คำว่าวิปัสสนาแทนความหมายว่ากำหนดรู้เห็นตามจริง นำมาใช้ในสมถกรรมฐาน เท่ากับเป็นการต่อยอดกรรมฐานจากภูมิสมถะยกขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนา คือกำหนดเห็นตามจริงหลังจากที่มีกำลังสมาธิสูงมากพอดูแล้ว ต่างจากวิปัสสนาล้วน ที่กำหนดรู้รูปนามไปด้วยสติ จนสมาธิจากขณิกะมีกำลังตามขึ้นมาเอง เข้าสู่อุปจารสมาธิหรือขั้นฌานได้ด้วยสติ ยิ่งการภาวนามีกำลังมากขึ้นเท่าใด สมาธิแก่กล้าขึ้นเท่าใด กำลังในการประหารสังโยชน์อาสวะกิเลสก็มากขึ้นตามนั้น

วิปัสสนากรรมฐาน ..หรือการมีสติกำหนดรู้เห็นธรรมชาติตามจริง เป็นการกำหนดจิตให้อยู่กับกายและจิตเอง ไม่ฟุ้งซ่านไปกับความคิด (จิตที่ปรุงกิเลสตัณหาอุปาทาน) เพื่อให้จิตนี้เห็นรูป-นามตามธรรมชาติของมัน ว่ามีการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป เป็นทุกข์ ทั้งรูปและนามไม่ใช่ตัวตน บังคับไม่ได้ ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ได้เป็นของเรา เมื่อจิตกำหนดได้ต่อเนื่องมากขึ้น สติไม่วอกแวก สมาธิมีการจดจ่อต่อเนื่อง จากขณิกะสมาธิ ก็เข้าสู่อุปจารสมาธิ หรือเข้าสู่ฌานสมาธิได้ แต่จะถึงฌานสี่หรือไม่แล้วแต่บุคคล เพราะการเข้าออกฌานสี่สามสองหนึ่ง ไม่ยากเกินไปสำหรับผู้ที่คล่อง พูดง่ายๆ วิปัสสนานั้น หากกำหนดดีๆ ต่อเนื่องไม่ขาดสาย สมาธิก็จะมีกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับสมถะ-วิปัสสนา สมาธิมีกำลังมาก่อน ส่วนวิปัสสนานั้น สติมาก่อน เรียกว่าเมื่ออริยมรรคสมังคีพร้อมที่จะประหารกิเลสนั้น ตัวอริยสมาธิก็จะมีกำลังเสมออริยมรรคตัวอื่นๆ ในภายหลัง เพราะขณิกสมาธินั้น (สงบชั่วคราวแล้วถอนขึ้นมา) เป็นสมาธิทีละขณะ ไม่ต่อเนื่อง ฟุ้งซ่านไปกับเรื่องราวต่างๆ จึงขาดกำลัง แต่หากกำหนดสติให้ดีจนต่อเนื่อง สมาธิย่อมมีกำลังสูงขึ้นจนไปถึงอุปจารสมาธิหรือฌาน เพื่อนำมาใช้พิจารณาธรรมได้ ใช้ในการประหารกิเลสได้ วิปัสสนาจึงใช้ขณิกสมาธิให้เป็นประโยชน์ ด้วยการกำหนดรู้รูปนามอย่างต่อเนื่องจนมีกำลังขึ้นมาในภายหลัง

บุคคลที่มีสมาธิดี จึงเป็นผู้มีกำลังดี ขาดแต่ปัญญาอีกเพียงน้อย ส่วนบุคคลที่มีปัญญา หรือเจริญสติได้ดี จึงเป็นผู้ที่ต้องการกำลังสมาธิอีก เมื่อกำหนดตามรู้กายและจิตดีๆ มีสมาธิในการจดจ่อไม่ฟุ้งไป สมาธิก็จะรวมมีกำลังในภายหลังเพื่อนำมาใช้งานได้ (สมาธิทุกประเภทพึงทราบว่าเป็นเครื่องหนุนปัญญาได้ตามกำลังของตน คือสมาธิอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ก็หนุนปัญญาอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดเป็นชั้นๆไป แล้วแต่ผู้มีปัญญาจะนำออกใช้ – หลวงตามหาบัว)

การบรรลุธรรม หรือตัดขาดจากสันโยชน์สิบนั้น จะต้องหลุดจากกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน อันเป็นม่านมายาปิดปังความจริง ซึ่งจะต้องเจริญสติต่อเนื่องจนขาดจากการปรุงแต่งทางความคิดสิ้นเชิง (ความคิดดับ-ที่จริงคือขันธ์ดับ) เรียกมรรคสมังคีคืออริยมรรคมาประชุมเสมอกันในการประหารกิเลส หรือจะเรียกว่ามีอินทรีย์แก่กล้าคือมีเบญจพลเสมอกันในการประหารกิเลส หรือจะเรียกว่ามีศีล-สมาธิ-ปัญญาสมบูรณ์จึงประหารกิเลส หรือที่เรียกว่าเจริญสติปัฏฐานสี่ครบรอบจนทำอาสวะให้สิ้นไป ก็ได้


ผู้บรรลุธรรม (อรหันต์) มีกี่ประเภท
เรียบเรียงจากหนังสือ พุทธธรรม - ท่านประยุทธ์ ปยุตโต
หน้า 296 – 297

พระอรหันต์ผู้แจ้งในธรรมนั้น มี 2 แบบ 6 ประเภท
2 แบบคือ 1. เป็นพระปัญญาวิมุต 2. เป็นพระอุภโตภาควิมุต

1. พระปัญญาวิมุต คือผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา ได้แก่ท่านผู้มุ่งบำเพ็ญแต่วิปัสสนา อาศัยสมาธิเท่าที่จำเป็น พอเป็นบาทฐานของวิปัสสนาให้บรรลุอาสวักขยญาณเท่านั้น ไม่มีความสามารถพิเศษ ไม่ได้โลกียอภิญญา 5 จำแนกได้ดังนี้
ก. พระสุขวิปัสสก ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน ได้สมาธิระดับฌานต่อเมื่อถึงขณะแห่งมรรค
ข. พระปัญญาวิมุต ผู้ได้ฌานสี่อย่างน้อยขั้นหนึ่ง ก่อนเจริญวิปัสสนาให้บรรลุอรหัตตผล
ค. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา 4 คือทรงปัญญาแตกฉาน 4 ประการ
1) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ ปรีชาแจ้งเจนในความหมาย
2) ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม ปรีชาแจ้งเจนในหลัก
3) นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ ปรีชาแจ้งเจนในภาษา
4) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ แจ้งเจนในความคิดทันการ

2. พระอุภโตภาควิมุต แปลว่าผู้พ้นโดยส่วนทั้งสอง คือหลุดพ้นจากรูปกายด้วยอรูปสมาบัติและหลุดพ้นจากนามกายด้วยอริยมรรค เป็นการหลุดพ้นสองวาระ คือด้วยวิกขัมภะ ข่มไว้ด้วยฌาน และด้วยสมุจเฉท ตัดกิเลสด้วยปัญญา จำแนกได้ดังนี้

ก. พระอุภโตภาควิมุต ผู้ได้สมถะถึงอรูปฌานอย่างน้อยขั้นหนึ่ง แต่ไม่ได้โลกียวิชชา โลกียอภิญญา

ข. พระเตวิชชะ เป็นอรหันต์ผู้ได้วิชชาสาม
1.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณอันเป็นเหตุระลึกได้ซึ่งขันธ์เคยอาศัย คือระลึกชาติได้
2.จุตูปปาตญาณ ญาณหยั่งรู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายตามกรรม หรือเทียบได้กับทิพพจักขุ
3.อาสวักขยญาณ ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปในอาสวะทั้งหลาย คือความรู้ที่ทำให้อาสวะสิ้นไป

ค. พระฉฬภิญญะ เป็นอรหันต์ผู้ได้อภิญญาหก
1.อิทธิวิธี ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
2.ทิพพโสต ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์
3.เจโตปริยญาณ ญาณที่กำหนดรู้ความคิดนึกในใจของคนและสัตว์ได้
4.ปุพเพนิวาสานุสติ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้
5.ทิพพจักขุ ญาณที่ทำให้เกิดตาทิพย์
6.อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป

ง. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ เป็นพระอรหันต์ประเภทพระอุภโตภาควิมุตและบรรลุปฏิสัมภิทา 4

รวมพระอรหันต์ 6 ประเภท ดังนี้
1. พระสุขวิปัสสก ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน ได้สมาธิระดับฌานต่อเมื่อถึงขณะแห่งมรรค
2. พระปัญญาวิมุต ผู้ได้ฌานสี่อย่างน้อยขั้นหนึ่ง ก่อนเจริญวิปัสสนาให้บรรลุอรหัตตผล
3. พระอุภโตภาควิมุต ผู้ได้สมถะถึงอรูปฌานอย่างน้อยขั้นหนึ่ง แต่ไม่ได้โลกียวิชชา โลกียอภิญญา
4. พระเตวิชชะ เป็นอรหันต์ผู้ได้วิชชาสาม
5. พระฉฬภิญญะ เป็นอรหันต์ผู้ได้อภิญญาหก
6. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ เป็นผู้บรรลุปฏิสัมภิทา 4

พระอรหันต์ที่เป็นทั้ง พระฉฬภิญญะและปฏิสัมภิทัปปัตตะ นับว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนครอบคลุมทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

วันเข้าพรรษา

จากที่เกิดวันเข้าพรรษา เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา เหตุเพราะสมัยก่อนฝนตกชุก การเดินทางสัญจรไปมาก็ไม่สะดวก อีกทั้งไปเหยียบต้นข้าวของชาวบ้าน ในสมัยที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว และได้ให้พระภิกษุสงฆ์ออกไปตามเขตต่าง ๆ เพื่อประกาศพระศาสนา จนมีผู้ขออุปสมบทมากขึ้น จึงทำให้มีพระภิกษุสงฆ์ออกไปเผยแพร่พระศาสนากันมากขึ้น แม้ในฤดูฝนก็มิได้หยุดพัก การเดินทางก็ไม่สะดวก ทั้งยังเหยียบข้าวกล้าให้เกิดความเสียหาย ทำให้สัตว์เล็กน้อยตาย ประชาชนจึงพากันติเตียนว่า ” ไฉนเล่า พระสมณศากยบุตรจึงเที่ยวไปมาอยู่ทุกฤดูกาล เหยียบข้าวกล้าและติณชาติให้ได้รับความเสียหาย ทำให้สัตว์เล็กน้อยตาย พวกเดียรถีย์และปริพพาชกเสียอีกยังพากันหยุดพักในฤดูฝน ถึงนกยังรู้จักทำรังที่กำบังฝนของตน”

พระพุทธองค์ได้ทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนในฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงกลางเดือน ๑๑ ห้ามมิให้เที่ยวสัญจรไปมา

วันเข้าพรรษาที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้มีอยู่ ๒ วัน คือ๑.ปุริมิกาวัสสูปนายิกา คือ วันเข้าพรรษาแรก ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงวันเพ็ญ กลางเดือน ๑๑๒.ปัจฉิมมิกาวัสสูปนายิกา คือ วันเข้าพรรษาหลัง ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ไปจนถึงวันเพ็ญกลางเดือน ๑๒

ภิกษุเข้าพรรษาแล้ว หากมีกิจธุระจำเป็นอันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ แต่จะต้องกลับมา ยังสถานที่เดิมภายใน ๗ วัน พรรษาไม่ขาด ที่เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” เหตุที่ทรงอนุญาตให้ไปได้ด้วยสัตตาหกรณียะนั้นมี ๔ อย่างดังต่อไปนี้๑. สหธรรมิกหรือมารดาบิดาเจ็บไข้ รู้เข้าไปเพื่อรักษาพยาบาล๒. สหธรรมิกกระสันจะสึก รู้เข้าไปเพื่อห้ามปราม๓. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เช่น วิหารชำรุดลงในเวลานั้น ไปเพื่อหาเครื่องทัพพสัมภาะมาปฏิสังขรณ์๔. ทายกต้องการบำเพ็ญบุญกุศลส่งคนมานิมนต์ ไปเพื่อบำรุงศรัทธาของเขาได้แม้ธุระอื่นนอกจากนี้ที่เป็นกิจจลักษณะอนุโลมเข้าในข้อนี้ด้วย

ในเวลาจำพรรษาเมื่อมีอันตรายเกิดขึ้นจะอยู่ต่อไปไม่ได้ และไปเสียจากที่นั้น พรรษาขาดแต่ท่านไม่ปรับอาบัติ (ไม่เป็นอาบัติ) มีดังนี้ คือ๑. ถูกสัตว์ร้าย โจร หรือปีศาจเบียดเบียน๒. เสนาสนะถูกไฟไหม้ หรือน้ำท่วม๓. ภัยเช่นนั้นเกิดขึ้นแก่โคจรคาม ลำบากด้วยบิณฑบาต ในข้อนี้ชาวบ้านอพยพจะตามเขาไปก็ควร๔. ขัดสนด้วยอาหาร โดยปกติไม่ได้อาหารหรือเภสัชอันสบาย ไม่ได้อุปัฏฐากอันสมควร (ข้อนี้หากพอทนได้ก็ควรอยู่ต่อไป)๕ .มีหญิงมาเกลี้ยกล่อม หรือมีญาติมารบกวนล่อด้วยทรัพย์๖. สงฆ์ในอาวาสอื่นจวนจะแตกกันหรือแตกกันแล้ว ไปเพื่อจะห้ามหรือเพื่อสมานสามัคคีได้อยู่ (ในข้อนี้ ถ้ากลับมาทัน ควรไปด้วยสัตตาหกรณียะ)

พระพุทธองค์ทรงอนุญาตการอยู่จำพรรษาในสถานที่บางแห่ง แก่ภิกษุบางรูปผู้มีความประสงค์ จะอยู่จำพรรษาในสถานที่ต่าง ๆ กัน สถานที่เหล่านั้น คือ๑. ในคอกสัตว์ (อยู่ในสถานที่ของคนเลี้ยงโค)๒. เมื่อคอกสัตว์ย้ายไป ทรอนุญาตให้ย้ายตามไปได้๓. ในหมู่เกวียน๔. ในเรือ

พระพุทธองค์ทรงห้ามมิให้อยู่จำพรรษาในสถานที่อันไม่สมควร สถานที่เหล่านั้นคือ๑. ในโพรงไม้๒. บนกิ่งหรือคาคบไม้๓. ในที่กลางแจ้ง๔. ในที่ไม่มีเสนาสนะ คือไม่มีที่นอนที่นั่ง๕. ในโลงผี๖. ในกลด๗. ในตุ่ม

ข้อห้ามที่พระพุทธองค์ทรงห้ามไว้อีกอย่างหนึ่ง คือ๑. ห้ามมิให้ตั้งกติกาอันไม่สมควร เช่น การมิให้มีการบวชกันภายในพรรษา๒. ห้ามรับปากว่าจะอยู่พรรษาในที่ใดแล้ว ไม่จำพรรษาในที่นั้น

อนึ่ง วันเข้าพรรษานี้ ถือกันว่าเป็นกรณียพิเศษสำหรับภิกษุสงฆ์ เมื่อใกล้วันเข้าพรรษาควรปัดกวาด เสนาสนะสำหรับจะอยู่จำพรรษาให้ดี ในวันเข้าพรรษา พึงประชุมกันในโรงอุโบสถไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาต่อกันและกัน หลังจากนั้นก็ประกอบพิธีอธิษฐานพรรษา ภิกษุควรอธิษฐานใจของตนเองคือตั้งใจเอาไว้ว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า

“อิมสฺมึ อาวาเส อิมัง เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ แปลว่า ข้าพเจ้าจะอยู่จำพรรษาในอาวาสนี้ตลอด ๓ เดือน”

หลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษาแล้ว ก็นำดอกไม้ธูปเทียนไปนมัสการบูชาปูชนียวัตถุที่สำคัญในวัดนั้น ในวันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูปเทียนไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์และพระเถระผู้ที่ตนเองเคารพนับถือ


อานิสงส์แห่งการจำพรรษา
เมื่อพระภิกษุอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนได้ปวารณาแล้ว ย่อมจะได้รับอานิสงส์แห่งการจำพรรษา ๕ อย่าง ตลอด ๑ เดือนนับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป คือ๑. เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องบอกลา ตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรค ปาจิตตีย์กัณฑ์๒. เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ๓. ฉันคณะโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้๔. เก็บอติเรกจีวรได้ตามปรารถนา๕. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของพวกเธอ

และยังได้โอกาสเพื่อที่จะกราลกฐิน และได้รับอานิสงส์พรรษาทั้ง ๕ ขึ้นนั้นเพิ่มออกไปอีก ๔ เดือน ในฤดูหนาว คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ไปจนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ อีกด้วย

ในวันเข้าพรรษานี้ตามประวัติ ชาวไทยเราได้ประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในวันเข้าพรรษา มาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ซึ่งมีทั้ง พิธีหลวง และ พิธีราษฎร์ กิจกรรมที่กระทำก็มีการเตรียมเสนาสนะให้อยู่ในสภาพที่ดี สำหรับจะได้จำพรรษาอยู่ตลอด 3 เดือน จัดทำ เทียนจำนำพรรษา เพื่อใช้จุดบูชาพระบรมธาตุ พระพุทธปฏิมา พระปริยัติธรรม ตลอดทั้ง 3 เดือน ถวายธูป เทียน ชวาลา น้ำมันตามไส้ประทีปแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในพระอาราม

สำหรับเทียนจำนำพรรษาจะมีการ แห่เทียน ไปยังพระอารามทั้งทางบกและทางน้ำตามแต่หนทางที่ไปจะอำนวยให้ เพื่อนำเทียนเข้าไปตั้งในพระอุโบสถหรือพระวิหาร แล้วก็จะจุดเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย

สำหรับการปฏิบัติอื่น ๆ ก็จะมีการถวาย ผ้าอาบน้ำฝน การอธิษฐานตนว่าจะประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของศีลห้า ศีลแปด ฟังเทศน์ฟังธรรม ตามระยะเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัด ตามกำลังศรัทธา และขีดความสามารถของตน นับว่าวันเข้าพรรษาเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชน จะได้ประพฤติปฏิบัติตนในกรอบของพระพุทธศาสนาได้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกระดับ หนึ่ง

วันอาสาฬหบูชา


















วัน อาสาฬหบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก โดยการแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน จนพระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา จึงถือว่าวันนี้เป็นวันแรกที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นครบองค์พระรัตนตรัย

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดง พระปฐมเทศนา หรือการแสดง พระธรรมครั้งแรก หลังจากที่ตรัสรู้ได้ 2 เดือน เป็นวันที่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเนื่องจากมีองค์ประกอบของ พระรัตนตรัยครบถ้วนคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช 45 ปี ในวันเพ็ญ (ขึ้น 15ค่ำ) เดือน 8 ดวงจันทร์ เสวยมาฆฤกษ์

การ แสดงพระปฐมเทศนา ได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือสารนาถ เมืองพาราณสี พระธรรมที่แสดงคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อเทศนาจบ พระโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ผู้ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเห็นแจ้งชัดว่า

ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ

สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา

เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทเป็น พระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ประทานอุปสมบทให้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยกล่าวคำว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเกิด พระโกณฑัญญะจึงเป็น พระอริยสงฆ์องค์แรก

คำว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่าสูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไปมีความโดยย่อว่า

ที่ สุด 2 อย่างที่บรรพชิตไม่ควรประพฤติปฏิบัติคือ การประกอบตนให้อยู่ในความสุขด้วยกาม ซึ่งเป็นธรรมอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ที่สุดอีกทางหนึ่งคือ การประกอบการทรมานตนให้เกิดความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

การ ดำเนินตามทางสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้งสองอย่างนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาและญาณให้เกิด เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ และนิพพาน ทางสายกลาง ได้แก่ อริยมรรค มีองค์แปด คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ดำริห์ชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งใจชอบ อริยสัจสี่ คือความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ค้นพบ มี 4 ประการได้แก่

ความ ทุกข์ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความได้พบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น ว่าโดยย่อ อุปาทานในขันธ์ 5 เป็นทุกข์

สาเหตุ แห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหาความทะยานอยาก อันทำให้เกิดอีกความกำหนัด เพลิดเพลินในอารมณ์ คือกามตัณหา ความทะยานอยากในกาม ภวตัณหา ความทะยานในภพ วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่มีภพ

ความดับทุกข์ โดยการดับตัณหาด้วยอริยมรรค คือ วิราคะ สละ ดับ ปล่อยไป ไม่พัวพัน

หน ทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8 คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การเจรจาชอบ การกระทำชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความพยายามชอบ การระลึกชอบ และการตั้งจิตมั่นชอบ

ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ว่า

นี้เป็นทุกข์ อันควรกำหนดรู้ และพระองค์ ได้กำหนดรู้แล้ว

นี้เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ อันควรละ และพระองค์ ได้ละแล้ว

นี้เป็นความดับทุกข์ อันควรทำให้แจ้ง และพระองค์ ได้ทำให้แจ้งแล้ว

นี้เป็นหนทางดับทุกข์ อันควรเจริญ และพระองค์ ได้เจริญแล้ว

สรุป ได้ว่า ปัญญาอันรู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงในอริยสัจ 4 มีรอบ 3 มีอาการ 12 คือ ขั้นแรก รู้ว่า อริยสัจแต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไร ขั้นที่สองรู้ว่าควรจะทำอย่างไรในอริยสัจแต่ละประการนั้น และขั้นที่ 3 พระองค์ได้ กระทำตามนั้นสำเร็จเสร็จแล้ว

พระองค์ ทรงเน้นว่า จากการที่พระองค์ทรงค้นพบ คือตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการนี้ การที่พระองค์ทรงกล้าปฏิญญา ว่าเป็นผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะพระองค์ได้รู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริง ในอริยสัจ 4 มี รอบ 3 มีอาการ 12 อย่างหมดจดดีแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศพระธรรมจักร ให้เป็นไปแล้ว ได้มีการบันลือต่อ ๆ กันไปให้ทราบทั่วกันว่า พระธรรมอันยอดเยี่ยมที่พระองค์ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี อันใคร ๆ ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้

วันอาสาฬหบูชามีเหตุการณ์สำคัญในทางพระพุทธศาสนาอยู่ 3 ประการคือ

1. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา โดยทางแสดงพระปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ประกาศสัจธรรมอันเป็นองค์แห่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์ตรัสรู้ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย

2. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระอริยสงฆ์สาวกขึ้นในโลก คือ พระโกณฑัญญะ เมื่อได้ฟังพระปฐมเทศนาจบ ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ทูลขออุปสมบท และพระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกษุอุปสัมปทา ในวันนั้น

3. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตน และพระสังฆรัตนะ ขึ้นในโลกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์

ประวัติภูริทัตตะวนาราม