ธรรมมะ ย่อมคุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรม

วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การกำหนดรู้ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ


สุวรรณภูมิแผ่นดินทอง หรือประเทศไทยแห่งนี้เป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ตั้งของศาสนาพุทธมายาวนาน เป็นดินแดนที่มีพระมหากษัตริย์ที่เป็นพุทธมามะกะผู้ทรงทศพิศราชธรรมเป็นพระประมุขต่อเนื่องมายาวนานและจะมีตลอดไป ความเป็นชาติไทยจึงประกอบไปด้วยชาติ คือประชาชน ศาสนาคือพุทธเป็นหลัก และพระมหากษัตริย์ผู้ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์ของพุทธศาสนา องค์ประกอบทั้งสามส่วนนี้เป็นลักษณะพิเศษที่มีแห่งเดียวในโลก อันจะก่อให้เกิดความสงบ ร่มเย็นต่อประชาชนทุกคน และเป็นรากฐานต่อการตั้งมั่น การเจริญของศาสนาพุทธตลอดมา ทำให้ดินแดนแห่งนี้มีผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนาพุทธบรรลุมรรคและผลอันได้แก่ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และอรหันต์ ต่อเนื่องกันมาตลอดไม่ขาดสาย โดยจำนวนคนที่บรรลุมรรคผลขั้นต้นนั้นจะเป็นโยมเสียส่วนใหญ่ ส่วนมรรคผลขั้นสูงนั้นผู้บรรลุเป็นพระสงฆ์เสียส่วนมาก อย่างไรก็ตามประเทศไทยแห่งนี้ไม่เคยขาดจากอริยะบุคคล ซึ่งถ้าดินแดนแห่งไดมีพระอริยะบุคคลอยู่ ดินแดนแห่งนั้นจะไม่ฉิบหายจากภัยสงครามอย่างแน่นอน เพราะอำนาจแห่งความร่มเย็นนั้นเอง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ก็เป็นพระอริยะเจ้าอีกองค์หนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในดินแดนแห่งนี้ช่วงกึ่งอายุของศาสนาคือประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ หลายคนคงรู้จักท่านดี เพราะบรรดาพระป่าสายวิปัสสนาทั้งหลายที่เป็นอาจารย์สั่งสอนอยู่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากท่านทั้งนั้น ลักษณะการกำเนิดขึ้นของพระอาจารย์มั่นและการสั่งสอนศิษย์ทั้งหลายนั้นมีความเป็นสำนัก คือมีระบบแบบแผน จึงทำให้มีการสืบต่อของการปฏิบัติและคำสั่งสอนผ่านผู้ได้รับการอบรมมาเป็นทอดๆ ไม่เหมือนกับพระอาจารย์องค์อื่นๆที่เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็เกือบจะไม่เห็นการสืบต่อเลยถ้าพิจารณาดีๆ จะเห็นว่าสำนักพระอาจารย์มั่นเป็นเหมือนพุทธภูมิย่อยถือกำเนิดมาสืบต่อการปฏิบัติที่ถูกต้องของศาสนาพุทธออกไปอีก ศิษย์สายหลวงปู่มั่นผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่รู้ดี และรู้ด้วยว่าพระอาจารย์มั่นนั้นสร้างบารมีทำความดีเพื่อปรารถนาจะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้ามายาวนาน หลายกัปหลายกัลป์ มีผู้เกิดร่วมชาติและทำความดีร่วมกับท่านเยอะ อันได้แก่ศิษย์ของท่านทั้งหลายนั้นเอง บารมีท่านมีมากแต่ก็ยังไม่พอจะมาเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อตั้งศาสนาพุทธเอง ชาติสุดท้ายท่านมาเกิดกึ่งศาสนาพุทธที่สุวรรณภูมิแห่งนี้ ท่านได้หักตัวและดีดออกจากความปรารถนาเพื่อพุทธภูมิกล่าวคือ เลิกปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านั้นเองเพราะเห็นว่าต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีกนาน จึงขอปฏิบัติให้หลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ในศาสนาพุทธของสมนะโคดมในชาติสุดท้าย ซึ่งก็สำเร็จเป็นจริงตามนั้น แต่เนื่องจากปรารถนาพุทธภูมิมายาวนานมีพุทธบารมีมาก (ถึงแม้จะไม่มากพอเป็นพระพุทธเจ้า) ท่านพระอาจารย์มั่นจึงมีพุทธลักษณะบางส่วนอยู่ในองค์ท่าน เพื่อสั่งสอนอบรมศิษย์และประดิษฐานพระศาสนาให้ยาวนานออกไป เป็นคุณธรรมพิเศษ ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติสมาธิจิตจะรู้ดี ลักษณะของท่านต่างจากพระอรหันต์เจ้าบางองค์ซึ่งไม่ค่อยสั่งสอนและวางระบบมากนักซึ่งนั้นก็เป็นเพราะบารมีท่านเหล่านั้นสร้างมาอย่างนั้น ส่วนพระอาจารย์มั่นมีคุณธรรมพิเศษที่ใช้กำหนดรู้เพื่อสั่งสอนศิษย์ คนทั่วไป รวมทั้งผู้ไม่มีร่างทั้งหลายอันได้แก่ พรหม เทวดา เป็นต้น จากที่ได้ศึกษาและสดับตรับฟังมา พระอาจารย์มั่นทำสมาธิวิปัสสนาเพื่อการหลุดพ้น เพื่อการสิ้นภพสิ้นชาติ โดยเริ่มจากให้จิตเห็นสิ่งต่างๆ ตามสภาพความจริงของมัน ไม่มีการปรุงแต่ง เพื่อให้จิตยอมรับและเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในกาม และความหลงผิดทั้งหลาย สุดท้ายจิตก็จะสลัดสิ่งจอมปลอมทั้งหลายออกไปจนหมด แล้วบรรลุถึงแดนเกษม ประวัติการปฏิบัติธรรมของท่านเอาจริงเอาจัง ไม่ท้อถอย เอาชีวิตเข้าแลก จิตของท่านมีการรวมสงบใหญ่ๆ อยู่ ๔ ครั้ง คือการบรรลุมรรคผลทั้ง ๔ ขั้น นั้นเอง (อ่านได้จากหนังสือรำลึกวันวาน เขียนโดยหลวงตาทองคำ จารวัณโน) ครั้งสุดท้ายพระอาจารย์สำเร็จธรรมขั้นสูงสุดในศาสนาพุทธ เป็นพระอริยะเจ้าผู้สิ้นกิเลสและอาสวะทั้งปวงโดยได้คุณสมบัติพิเศษที่รองจากจตุปฏิสัมภิทาญาณ เพิ่มเข้ามาด้วยคือท่านได้ ปฏิสัมภิทานุสาสน์ หรือ จตุปฏิสัมภิทานุโลมญาณก็ว่าได้ (เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์ผู้ที่ได้จตุปฏิสัมภิทาญาณไม่เต็มเปี่ยม: จากหนังสือบูรพาจารย์ พิมพ์โดยมูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ) กล่าวคือ ท่านพระอาจารย์มั่นฉลาดรู้ในเทศนาวิธีและอุบายทรมานแนะนำสั่งสอนสานุศิษย์ให้เข้าใจในพระธรรมวินัย และอุบายฝึกจิตใจ ท่านพระอาจารย์เล่าว่า ท่านได้พยายามศึกษาสำเนียงวิธีเทศนาอันจะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ฟัง และเกิดความรู้ขึ้นว่า วิธีการเทศนานั้นต้องประกอบด้วย ๓ ขั้นตอนคือ๑. อุเทศ คือกำหนดหัวข้อธรรมที่พึงจะยกขึ้นแสดงต่อผู้ฟังนั้นๆ โดยการทำความสงบใจหน่อยหนึ่ง ธรรมใดที่เหมาะแก่จริตนิสัยของผู้ฟังคนนั้น กลุ่มนั้น ที่มาคอยฟังอยู่ขณะนั้น ก็จะผุดขึ้นมาในใจท่าน และท่านก็จะเอาหัวข้อธรรมบาลีที่ผุดขึ้นมานั้นเป็นหัวข้อสอน๒. นิเทศ คือเนื้อความเพื่ออธิบายความของอุเทศนั้นให้กว้างขวางออกไปตามสมควร เมื่อเนื้อความปรากฏขึ้นแจ่มแจ้งแก่ใจอย่างไรในขณะที่จิตสงบนั้น ท่านจะต้องแสดงออกไปอย่างนั้น๓. ปฏินิเทศ คือการย่อใจความเพื่อให้ผู้ฟังจำได้ จะได้นำไปไตร่ตรองในภายหลังวิธีการเทศนาของท่านพระอาจารย์มั่นเป็นไปตามหลักดังกล่าวนี้ หัวข้อธรรมบาลีอุเทศที่ท่านยกมาแสดงบางประการ ท่านไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก่อน แต่มาปรากฏขึ้นขณะที่ท่านทำจิตให้สงบในเวลาที่ท่านแสดงธรรมนั้นเอง จึงสมกับคุณสมบัติพิเศษของปฏิสัมภิทานุสาสน์โดยแท้ คือเป็นการแสดงธรรมด้วยปฏิภาณญาณจริงๆ จึงถูกกับจริตนิสัยของผู้ฟัง ทำให้ผู้ฟังเกิดความสว่างแจ่มใสเบิกบานใจและเกิดฉันทะในการที่จะประพฤติปฏิบัติศีลธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นผลให้ผู้ปฏิบัติที่ได้รับการสั่งสอนจากท่านสำเร็จมรรคผลจริงๆ นอกจากนี้แล้วพระอาจารย์มั่นยังอาศัยอำนาจจิตอันสะอาดและสงบ กำหนดรู้สิ่งต่างๆ โดยวิธีการ ๓ วิธี ที่เรียกว่า ไตรวิธญาณ ดังนี้


ไตรวิธญาณ

ท่านพระอาจารย์มั่นสามารถกำหนดจิตรู้สิ่งต่างๆ เช่น จิต นิสัย วาสนาของคนอื่นๆ หรือเทวดา ด้วยวิธีการกำหนดจิตอย่างไดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่างนี้คือ๑. เอกวิธัญญา กำหนดจิตพิจารณากายนี้อันปรากฏชัด จิตวางอุคคหนิมิตรวมลงถึงฐีติจิต คือ จิตดวงเดิมแล้วพักจิตอยู่พอประมาณ แล้วให้จิตถอยออกมาพักเพียงอุปจาระก็ทราบได้ว่า เหตุนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้๒. ทุวิธัญญา ปฏิบัติเหมือนข้อ ๑ พอจิตถอยออกมาถึงขั้นอุปจาระจะปรากฏนิมิตภาพเหตุการณ์นั้นๆ ขึ้น ต้องวางนิมิตนั้นเข้าจิตอีกครั้งหนึ่ง ครั้นถอยออกมาอีกก็จะทราบเหตุการณ์นั้นๆได้๓. ติวิธัญญา ปฏิบัติเหมือนข้อ ๑ พอจิตถอยออกมาถึงขั้นอุปจาระจะปรากฏนิมิตภาพเหตุการณ์นั้นขึ้น ต้องวิตกถามเสียก่อนแล้วจึงวางนิมิตนั้น แล้วเข้าจิตอีก ถอยออกมาถึงขั้นอุปจาระ ก็จะทราบเหตุการณ์นั้นได้ ความรู้ด้วยวิธี ๓ ประการนี้ ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวว่า จิตที่ยังเป็นฐีติขณะเป็นเอกัคคตามีอารมณ์เดียวที่มีแต่สติกับอุเบกขาจึงไม่สามารถทำให้ทราบเหตุการณ์ต่างๆได้ ต้องถอยจิตออกมาอยู่เพียงขั้นอุปจาระจึงจะมีกำลังรู้ได้ แต่หากถอยออกมามากเกินไปถึงขั้นขณิกะหรือจิตธรรมดาก็ทราบเหตุการณ์ไม่ได้เหมือนกัน เพราะกำลังจิตอ่อนเกินไปท่านพระอาจารย์มั่นอาศัยไตรวิธญาณจากอำนาจจิตอันสะอาดและสงบ เป็นกำลังในการหยั่งรู้ หยั่งเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต และกำหนดรู้จิตใจ นิสัย วาสนาของศิษยานุศิษย์ พร้อมทั้งอุบายวิธีทรมานสั่งสอนศิษยานุศิษย์ด้วยปรีชาญาณหยั่งรู้โดย ๓ วิธีนี้ จึงเกิดผลสำเร็จในการสั่งสอนและเผยแผ่หลักการปฏิบัติศาสนาพุทธที่ถูกต้อง ที่มุ่งเน้นความสงบ ความสุข ความหลุดพ้น สมควรจะเป็นเนติของผู้จะเป็นครูอาจารย์ของผู้อื่นต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: