ธรรมมะ ย่อมคุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรม

วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2551

มหาสติปัฏฐานสูตร

ในตอนต้น จะกล่าวถึงความมุ่งหมายที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคกล่าวไว้ ตามพระบาลี เอวมฺ เม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา กุรูสุ วิหรติ สำหรับพระบาลีว่าเพียงเท่านี้ ถือใจความตามภาษาไทยว่า “ข้าพเจ้าผู้มีนามว่าพระอานนท์ ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ในหมู่ชนชาวกุรุนิคมชื่อว่า กัมมาสธัมมะ ในกาลนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นทูลรับว่า พระพุทธเจ้าข้า พระพุทธเจ้าทรงกล่าวเป็นพุทธภาษิตว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางถูก เป็นทางของบุคคลผู้เดียว เป็นที่ไปในที่แห่งเดียว เพื่อความหมดจดวิเศษ เพื่อความดับไฟแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญาณธรรมหรือว่าธรรมที่ควรรู้ ธรรมที่ถูกคือ อริยมรรค เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ทางนี้ก็คือ สติปัฏฐาน คำว่าสติปัฏฐาน แปลว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ สติปัฏฐาน 4 มีอะไรบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เนือง ๆ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงนำอภิชฌาและโทมนัส คำว่า อภิชฌา แปลว่า ความยินดีหรือยินร้าย โทมนัส แปลว่า ความเสียใจในโลกเสียให้พินาศไป เธอย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนือง ๆ นี่เป็นที่ 2 มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศไป อันดับ 3 เธอย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนือง ๆ อยู่ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศไป อันดับ 4 เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนือง ๆ อยู่ มีความเพียรให้กิเลสเร่าร้อน มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงนำอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้พินาศไป
พระพุทธเจ้าทรงตรัสให้บรรดาผู้ฟังทั้งหลายมีความมั่นใจว่า ท่านผู้ใดถ้าปฏิบัติในมหาสติปัฏฐานสูตรครบถ้วน ท่านผู้นั้นจะเข้าถึงความดับทุกข์ ไม่มีความโศก ไม่มีความร่ำไร เสียใจและโทมนัส และในที่สุดท่านผู้นั้นจะเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน การที่จะเข้าถึงพระนิพพานในตอนท้ายของแต่ละสูตรบอกว่า เราต้องมีสติสัมปชัญญะ คำว่า สติ แปลว่า นึกไว้ สัมปชัญญะ แปลว่า รู้ตัว ก็ในมหาสติปัฏฐานเริ่มต้นกายานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ย่อมพิจารณาเห็นกายในการเนือง ๆ อันที่ 2 เวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนือง ๆ ข้อที่ 3 จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนือง ๆ ข้อที่ 4 ธัมมานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนือง ๆ และก็ละความยินดียินร้ายในโลกทั้งหมด เราจะเข้าที่สุดของความดับทุกข์ การปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่งมรรคผลในมหาสติปัฏฐานสูตร เราจะปฏิบัติแยกตัดตอนไปเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ชอบใจอย่างนี้ เราจะเอาอย่างโน้น ไม่ชอบใจอย่างโน้น เราเอาอย่างนี้ อย่างนี้ไม่ได้ถึงพระนิพพาน ต้องปฏิบัติให้มีผลเท่ากันหมด คือตั้งแต่บทต้นถึงบทสุดท้าย
ข้อสำคัญ การที่เจริญให้เข้าถึงมรรคถึงผล ที่เรียกว่า โมกขธรรม คือธรรมเป็นเครื่องพ้นจากกิเลส หรือว่าธรรมเป็นเครื่องพ้นจากกิเลส หรือว่าธรรมเป็นเครื่องพ้นจากวัฏสงสาร หรือว่าธรรมเป็นเครื่องพ้นจากความทุกข์ จะต้องเว้นส่วนสุด 2 อย่าง คือ
1. อัตตกิลมถานุโยค เว้นจากการทรมานตัว นั่งเครียด ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็พักผ่อน อย่าไปทรมานมัน มันจะเกิดเป็นโรคประสาท ทำแค่พอดี มันไม่ไหวก็นอนภาวนาให้มันหลับไป
2. กามสุขัลลิกานุโยค เวลาที่จะเริ่มภาวนาและพิจารณา ขณะเดียวกันนั้นก็นึกอยากจะได้ชั้นโน้น นึกอยากจะได้ชั้นนี้ นึกอยากจะได้อย่างนั้น ตัวอยากนี่ท่านแปลว่า กาม คือความใคร่ มันทำให้อารมณ์ใจกระสับกระส่าย ไม่มีผลในด้านของความดี
ขอให้ท่านทั้งหลายจงเว้นอาการอย่างนี้เสีย อย่าทำอย่าสร้างมันขึ้นมา มันจะเป็นโทษ มันจะไม่เกิดประโยชน์อะไรกับบรรดาท่านทั้งหลาย ส่วนที่ทำให้ได้ดี องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดากล่าวว่า ต้องใช้ “มัชฌิมาปฏิปทา” คือ ทำแค่พอเหมาะพอดี ถ้านั่งท่านี้เมื่อย เราก็พลิกได้ เปลี่ยนอิริยาบถ นั่งนานเกินไป ถ้ามันทนไม่ไหว นั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบ ก็ลุกขึ้นมานั่งเก้าอี้ห้อยขาก็ได้ เอนกาย นึกไว้เสมอว่า เราไม่ได้ฝึกกาย นี่เราฝึกใจ นั่งไม่สบายก็ยืน ยืนไม่สบายก็เดิน เราภาวนาหรือพิจารณาอะไร ก็ทำอย่างนั้นแหละ แต่ว่าเดินหรือว่ายืน เมื่อนั่ง ยืน เดิน ไม่สบายก็นอน นอนไม่ไหวก็ปล่อยให้มันหลับไป อย่าทรมานมัน คราวนี้เวลาตื่น ตั้งใจอยู่เสมอว่า ก่อนจะหลับ ถ้าตื่นขึ้นมาเมื่อไร เราจะยึดอารมณ์นี้ไว้ทันที เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วก็จับอารมณ์นั้น ทั้ง ๆ ที่นอนอยู่อย่างนั้นแหละ ก็ทำตามตอนนั้นไปเลย หรือว่าไม่พอใจในการนอน จะนั่งก็ได้ จะยืนก็ได้ จะเดินก็ได้ จงอย่าลืมว่า พระกรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ดี ถ้าได้จากการเดิน พระกรรมฐานกองนั้นจะไม่เสื่อม เพราะเราได้มาจากอิริยาบถที่มีการเคลื่อนไหว และก่อนที่ท่านทั้งหลายจะศึกษาหรือปฏิบัติในข้อใด ในกรรมฐานบทใดก็ตาม ขอเตือนไว้ว่า จรณะ 15 ที่เป็นความประพฤติ อันได้แก่
1. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล
2. อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์
3. โภชเนมัตตัญญุตา รู้ความพอดีในการบริโภคอาหาร
4. ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่
นี่เป็นหมวดที่หนึ่ง 4 ข้อ สำหรับหมวดที่สอง ท่านเรียกว่าสัจธรรม มี 7 ข้อ คือ
5. ศรัทธา ความเชื่อ
6. หิริ ความละอายแก่ใจ
7. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลของความผิด
8. พหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก คือศึกษามามาก จำได้มาก
9. วิริยะ มีความเพียร
10. สติ ระลึกได้
11. ปัญญา ความรอบรู้
สำหรับหมวดที่สาม ท่านกล่าวว่ามี 4 ข้อด้วยกัน เนื่องด้วยฌาน เนื่องด้วยพวกรูปฌาน คือ
1. ปฐมฌาน ฌานที่ 1
2. ทุติยฌาน ฌานที่ 2
3. ตติยฌาน ฌานที่ 3
4. จตุตถฌาน ฌานที่ 4
สำหรับจรณะนี้ ท่านที่ปฏิบัติเพื่อความดี หรือว่าภิกษุสามเณรที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ตลอดจนกระทั่งบรรดาอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ทุกท่านมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทรงจรณะ 15 ไว้เป็นเบื้องต้น จรณะ แปลว่า ความประพฤติ ความประพฤติ 15 อย่าง ถือเป็นเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่ใช่การปฏิบัติเพื่อเข้าถึงมรรคผล เป็นแต่เพียงว่า ถ้าหากท่านทั้งหลายปฏิบัติได้ ท่านก็เรียกว่า กัลยาณชน คือเป็นคนดี ตามคติที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน ยังไม่เรียกว่าอริยชน ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็นภาคพื้นเบื้องต้น ถ้าหากว่าท่านผู้ใดบกพร่องในจรณะ คือความประพฤติ 15 อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายไม่ได้มีใจเข้าถึง คือไม่มีความเคารพในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริง แล้วก็ไม่ได้หวังในความประพฤติดีประพฤติชอบจริง คำว่าปฏิบัติในที่นี้หมายถึง ความระมัดระวังไม่ให้ใจของเราเข้าไปเกลือกกลั้วกับสิ่งที่เป็นอกุศล ที่จะเป็นผลเป็นปัจจัยเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ ได้แก่อบายภูมิ เป็นต้น คือเป็นกิจเบื้องต้นที่พวกเราจะพึงต้องปฏิบัติ ประพฤติให้ครบถ้วน
แล้วก็ใคร่ครวญในบารมี 10 ให้เป็นปกติ คำว่าบารมี 10 นั้น ท่านใช้เป็น 30 ประการ ก็เพราะว่าจัดเป็น 3 ขั้นด้วยกัน คือ บารมีต้น เรียกว่าบารมีเฉย ๆ บารมีขั้นรองลงมาเรียกว่า อุปบารมี บารมีขั้นสุดท้ายเรียกว่า ปรมัตถบารมี สำหรับบารมีทั้ง 10 นี้ก็มี
1. ทานบารมี
2. ศีลบารมี
3. เนกขัมมบารมี
4. ปัญญาบารมี
5. วิริยบารมี
6. ขันติบารมี
7. สัจจบารมี
8. อธิษฐานบารมี
9. เมตตาบารมี
10. อุเบกขาบารมี
บารมีทั้ง 10 ประการ ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือว่าเป็นความสำคัญมาก เราจะเคยได้ยินได้ฟังอยู่เสมอว่า บุคคลใดบารมีเต็มแล้ว บุคคลนั้นองค์พระประทีปแก้วตรัสว่า สามารถจะตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน คือเป็นพระอรหันต์ได้ แล้วก็ไปนิพพานได้ ฉะนั้น บารมี 10 ประการนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่บรรดาภิกษุสามเณรหรือว่าญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิง จะต้องปฏิบัติให้ได้ ถ้าเราทำไม่ได้ เราก็ไม่พ้นทุกข์ ถ้าทำได้ก็พ้นทุกข์
และถ้ากำลังใจมันท้อถอย ก็ใช้อิทธิบาท 4 เข้าปกคลุม อันได้แก่
1. ฉันทะ ความพอใจในกิจที่เราจะพึงทำ
2. วิริยะ ความเพียรในการต่อต้านอุปสรรค
3. จิตตะ เอาจิตใจจดจ่ออยู่เสมอในกิจที่เราจะพึงทำ ไม่ละเลย ไม่ทำจิตให้เหินห่าง ไม่พลั้งไม่เผลอ จดจ่อจ้องอยู่เสมอว่า เราจะทำสิ่งนี้ให้ได้ แล้วก็
4. วิมังสา ก่อนจะทำอะไรทั้งหมด ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญเสียก่อนให้ทราบว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ จะมีผลดีผลชั่วประการใด แล้วก็เลือกเอาในสายเฉพาะที่มีผลดีเท่านั้น ไม่เลือกในสายที่มีผลชั่ว
ถ้าอิทธิบาท 4 มีครบถ้วนละก็ จรณะ 15 ประการ ของบรรดาท่านทั้งหลายก็จะครบถ้วนด้วย แล้วก็สามารถจะควบคุมบารมี 10 ประการให้ทรงตัว
ฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายก่อนจะหลับหรือว่าตื่นใหม่ ๆ จงทบทวนจรณะ 15 และบารมี 10 ประการว่า สิ่งใดในทั้ง 25 ประการนี่เราบกพร่องบ้าง แล้วก็ตรวจดูอิทธิบาท 4 ว่า เราบกพร่องบ้างหรือเปล่า ถ้าบกพร่องก็แสดงว่า เราเป็นผู้ขาดทุนในวันนั้น แล้วก็พยายามตั้งใจรวบรวมกำลังใจคิดว่าจะรักษาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมดให้อยู่ครบถ้วนตามกำลังใจของเราให้ได้
ทีนี้ต่อไปเราก็หาทางดับกิเลส ดับมากไม่ได้เราก็ดับทีละน้อย ค่อย ๆ ดับ ถ้าเราค่อย ๆ ดับแล้วก็ดับบ่อย ๆ กิเลสมันก็ดับหมดเหมือนกัน ส่วนใดที่มันดับไปแล้วก็ให้มันดับไปเลย อย่าให้มันเกิดขึ้นมาใหม่
สำหรับมหาสติปัฏฐานสูตร การที่จะเข้าถึงพระนิพพานในตอนท้ายของแต่ละสูตรบอกว่า เราต้องมีสติสัมปชัญญะ คำว่าสติสัมปชัญญะในที่นี้ พระพุทธเจ้าให้มีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก สติตั้งไว้ในกาย พิจารณาเห็นกายในกายเป็นปกติ พิจารณาเวทนาในเวทนาเป็นปกติ พิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นปกติ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเป็นปกติ แล้วก็ละอภิชฌาและโทมนัส หมายถึงความดีใจ เสียใจ ความพอใจในโลกให้ตัดทิ้งไป ถ้าเราพยายามตัดได้หมดเมื่อใด เราก็เป็นพระอรหันต์เมื่อนั้น ถ้าเราตัดไม่ได้มาก ตัดได้น้อย ก็ชื่อว่าพอมีคุณอยู่

กายานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ว่าด้วยเรื่อง
1.1 อานาปานบรรพ
1.2 อิริยาบถบรรพ
1.3 สัมปชัญญบรรพ
1.4 ปฏิกูลบรรพ
1.5 ธาตุบรรพ
1.6 นวสีวถิกาบรรพ

1.1 อานาปานบรรพ ต่อไปนี้จะขอเอากรรมฐานมหาสติปัฏฐานสูตร ในกายานุปัสสนาบทต้นที่เรียกว่า “อานาปานบรรพ” มากล่าว ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไปสู่ป่าก็ดี เข้าไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างเปล่าก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ คือ ขัดสมาธิตั้งกายให้ตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ย่อมมีสติหายใจเข้า ย่อมมีสติหายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดอยู่ว่าเราหายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้อยู่ว่าหายใจออกสั้น ย่อมสำเหนียก(ตั้งใจกำหนดไว้) ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง เวลาหายใจเข้าตั้งใจกำหนดไว้ว่า เราจักเป็นผู้รู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง เวลาหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร (คือ ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ) เมื่อหายใจเข้า เราจักระงับกายสังขาร เมื่อหายใจออก”
อันนี้เรียกกายานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ในอานาปานบรรพ หรืออานาปานุสสติกรรมฐาน ในกรรมฐาน 40 สำหรับอานาปานุสสติหรืออานาปานบรรพ เป็นกรรมฐานที่มีความสำคัญที่สุด เป็นกรรมฐานที่เป็นพื้นฐานใหญ่ ถ้านักเจริญกรรมฐานทั้งหลายไม่สามารถทรงฌานในด้านอานาปานุสสติกรรมฐานได้ ท่านผู้นั้นก็ไม่สามารถจะเข้าฌานในกองอื่น ๆ ได้เหมือนกัน เพราะการเข้าฌานในกรรมฐานกองใดกองหนึ่งนอกไปจากนี้ ต้องพึ่งอานาปาเสมอ เมื่ออานาปานุสสติถึงฌาน 4 เสียกองเดียว กรรมฐานกองอื่นก็เป็นเรื่องเล็ก เพราะเป็นกรรมฐานที่เข้าถึงฌานได้ง่ายที่สุด
ฉะนั้น การพิจารณาลมจึงมีความสำคัญ ที่ว่าสำคัญก็เพราะว่าลมเป็นของละเอียด การรู้ลมเข้า การรู้ลมออก เป็นการทรงสติสัมปชัญญะเป็นอย่างดี ถ้าเราเผลอนิดเดียวเราก็ไม่สามารถจะรู้อาการของการหายใจเข้าหายใจออก การจะเจริญพระกรรมฐานในด้านอานาปานุสสติกรรมฐานให้ได้ เราจะทำอย่างไร ก็มีวิธีทำ ก็ต้องขอบอกวิสุทธิมรรครวมกันเข้ามาในที่นี้ ท่านบอกว่า เราต้องมีสติและสัมปชัญญะ กำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก นึกว่านี่เราหายใจเข้า เราหายใจออก เมื่อตัวสัมปชัญญะรู้ว่า นี่เราหายใจเข้าแล้ว หายใจออกแล้ว ก็จะรู้ว่านี่เราหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น ความจริงเป็นของไม่ยาก การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ทุกท่านต้องใช้อยู่ตลอดเวลา คำว่าใช้ตลอดเวลาก็หมายความว่า ถ้าเราจะทำกรรมฐานกองใดกองอื่นไปกว่านี้ ก็ต้องพิจารณาลมหายใจเข้าออก ให้จิตทรงสมาธิดีเสียก่อน หรือไม่ต้องรีบทำอย่างอื่นก่อน เพราะถ้าเรารีบทำอย่างอื่นก่อน ถ้าจิตไม่สามารถจะทรงสมาธิไว้ได้ กรรมฐานกองอื่นที่เราตั้งใจก็ไม่มีผล ถึงแม้ว่าเราตั้งใจจะเจริญวิปัสสนาญาณ เพื่อตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานก็ตาม ถ้าหากว่า เราไม่ทรงสมาธิจิต คือ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เป็นการทรงสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ การเจริญวิปัสสนาญาณก็ไม่มีผล จิตไม่ทรงอยู่ในขอบเขต
ความจริงพวกเราก็หายใจอยู่ตลอดวันตลอดคืน เราก็มานั่งนึกดูว่า การหายใจของเรานี้มีทุกขณะจิต ถ้าขณะใดเราขาดลมหายใจ นั่นหมายถึงว่าเราตาย ถ้าจะถามว่า ใครทราบบ้างเวลาที่เราหายใจวันหนึ่ง ๆ ทั้ง ๆ ที่เราหายใจตลอดวัน แต่ใครรู้บ้างว่าเราหายใจ อันนี้เป็นของยากว่าอาการหายใจทางกายโดยอัตโนมัติเป็นเรื่องของร่างกายจัดขึ้น แต่เราก็ไม่รู้ว่าเราหายใจ ทั้ง ๆ ที่เราต้องการลมหายใจ การที่เราไม่รู้ว่าเราหายใจก็แสดงว่าสติสัมปชัญญะของเราย่อหย่อนมาก คนใดถ้ามีสติสัมปชัญญะ 2 ประการ หรือว่ามีสติสมบูรณ์แบบ คนนั้นเขาเรียกว่า “พระอรหันต์” พระพุทธเจ้าที่สอนให้เรากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เพื่อให้สติจับอยู่ว่า เวลานี้เราหายใจเข้า เวลานี้เราหายใจออก เราหายใจเข้ายาวหรือสั้น เราหายใจออกยาวหรือสั้น ก็เพื่อให้เราฝึกการทรงสติให้สมบูรณ์นั่นเอง เพื่อความเป็นพระอรหันต์
ทีนี้ความสำคัญในเวลาฝึกมันมีอยู่ เมื่อเวลาทำจริง ในด้านอานาปานุสสติกรรมฐานนี่เป็นของหนัก แต่ทว่าถ้าเราไม่ทิ้งวิริยะอุตสาหะก็เห็นว่าไม่หนักเหมือนกัน วิธีที่เราจะทำมันจะบังคับจิตให้มันทรงอารมณ์เป็นสมาธิ รู้ลมเข้าลมออกตลอดเวลาน่ะมันไม่ได้ เราก็ต้องใช้วิธีผ่อนสั้นผ่อนยาวเหมือนกับเราฝึกม้าพยศ ตามธรรมดาม้าที่มีกำลังกล้า มีความดื้อ ถ้ามันไม่พยศเราก็บังคับมันได้ ใช้มันได้สะดวก เวลาที่มันพยศขึ้นมาจริงมันไม่เอาไหน บังคับมันไม่ได้ กำลังมันก็ดี เราก็สู้มันไม่ได้ นี่เรื่องอารมณ์ฟุ้งซ่านของจิตที่จะบังคับด้วยอานาปานุสสติก็เช่นเดียวกัน ท่านกล่าวว่า ในขณะใดเมื่อพบอาการพยศของอานาปานุสสติเข้า คือสติไม่สามารถจะคุมอยู่ ท่านแนะนำไว้ 2 วิธีว่า ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ให้พักเสียก่อน นอนให้สบาย หรือเที่ยวให้สบาย จิตใจมันจะคิดอย่างไรปล่อยมันไปตามอารมณ์อย่าฝืน ถ้าไม่ไหวอย่าฝืน ถ้าฝืนเป็นบ้าแน่ จงจำไว้ว่า อย่าขยันเกินไปและอย่าขี้เกียจเกินไป ได้แนะนำกันมาแล้ว่า ส่วนสุดสองอย่างที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค คือการทรมานตน ถ้าหากว่าเวลาที่เราปฏิบัติสมาธิ แล้วก็นึกอยากจะเห็นภาพบ้าง อยากเห็นแสงสีความสว่างบ้าง อยากจะได้ฌานสมาบัติบ้าง อยากอะไรก็ตาม หรือที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค เป็นส่วนที่อันดับต่ำ เมื่อจิตเข้าไม่ถึงแล้วจะไม่ได้ทรงแม้แต่อารมณ์ของฌาน
ฉะนั้น การปฏิบัติพระกรรมฐานทุกกอง ทุกท่านจงจำไว้ว่า อย่าได้เข้าไปแตะต้องส่วนสุดสองอย่างนี้ พระพุทธเจ้าบอกไว้แล้วว่าไม่ใช่ทางบรรลุผล หมายถึง อริยมรรค อริยผล แม้แต่ฌานโลกีย์ก็ไม่มีโอกาส ดังนั้นถ้ามันหนัก มันไม่ไหวก็เลิกพัก เรายังมีวันมีเวลา เมื่ออารมณ์สบายก็มาเริ่มใหม่ เวลาเริ่มก็อย่าใช้เวลาให้มากนัก ใช้เวลาน้อย ๆ กะเอาชนะเป็นสำคัญ คำว่าชนะ ก็หมายความว่า ใช้เวลาให้น้อยในชั่วระยะเวลาน้อย ๆ เราจะพยายามรู้ลมเข้า รู้ลมออก รู้ลมสั้น รู้ลมยาว ใช้เวลาให้สั้น ในเวลานั้นจะไม่ยอมให้จิตฟุ้งซ่านเด็ดขาด จะให้ทรงอยู่ตามอารมณ์ที่เราต้องการ ถ้าหากว่ามันเป็นไปโดยสะดวกไม่ได้ ก็บังคับมัน นี่อย่างหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่า ถ้าบังคับไม่ได้จริง ๆ เหมือนกับม้าพยศ ก็กอดคอมัน ถือแส้ไว้ ปล่อยมันวิ่งไป จับบังเหียนมันเข้าไว้ มันจะวิ่งไปไหนก็เชิญวิ่งไป ปล่อยไปตามอัธยาศัย เมื่อมันหมดแรงจะวิ่ง เราก็บังคับให้เข้าจุดตามทางที่เราต้องการได้ ข้อนี้มีอุปมาฉันใดแม้จิตซ่านก็เหมือนกัน ถ้าซ่านจริง เอาไว้ไม่ไหวก็ปล่อยมัน อยากจะคิดอะไรก็เชิญคิดตามใจชอบ แต่มีสติสัมปชัญญะไว้ คุมสติสัมปชัญญะเข้าไว้ แล้วพอเลิกคิดก็ควบคุมลมหายใจเข้าออก มันไม่เสียเวลาเท่าไหร่ เคยทดลองมาแล้วมีผลดีมาก มันจะคิดจริง ๆ ก็ไม่เกิน 20 นาที ไม่เคยถึง พอมันเลิกคิด ตอนนี้เราเริ่มจับลมหายใจเข้าออก มันจะทรงเป็นฌานดิ่ง มีอารมณ์สงบสงัด อารมณ์จิตจะทรงฌานเต็ม มันไม่ยาก และอาการที่เราทรงอารมณ์ดีของจิต ในด้านสมถภาวนาก็จงอย่าถือว่ามันดีเสมอไป บางวันก็ดีบ้าง บางวันก็เลวบ้าง นี่เป็นของธรรมดา การเจริญอานาปานุสสติกรรมฐานและมหาสติปัฏฐานใช้ได้รวมกันอยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าวันนี้ทำแบบนี้ แล้วก็พรุ่งนี้ทำแบบนั้น เราศึกษาเข้าใจแบบไหน ก็ปฏิบัติแบบนั้นให้ครบถ้วน แล้วเวลาที่เราเข้าฌานจะตัดอารมณ์ในเรื่องโลภะ โทสะ โมหะ ก็หากรรมฐานที่ทรงอารมณ์ คือว่าทำตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย จงจำไว้ว่าจุดจบมันอยู่ที่ฌาน 4 คือ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไป เราก็พยายามฝึกอาการทรงฌาน วิธีฝึกอาการทรงฌาน ก็โดยวิธีใช้การตั้งเวลาโดยเฉพาะ มีประโยชน์มาก พอเราได้สมาธิดีแล้ว จิตมันสามารถจะทรงได้ตามที่เรากำหนดเวลาสั้น ๆ เราทรงได้ตามโอกาสนั้นที่เราต้องการ ก็ขยับให้มันยาวไปอีกนิด เมื่อชินเมื่อเข้าได้แล้วก็ตั้งอยู่ได้ตามลำดับนั้น ได้ครึ่งเดือนหรือเดือนหนึ่งก็ขยับให้ยาวไปอีกนิดหน่อย อาการที่เราจะรู้ว่าเป็นอาการของฌาน 4 เมื่อจับลมหายใจเข้าหายใจออกไป ตอนนี้กลับไม่รู้ว่าลมเข้าหรือออก ไม่มีความรู้สึก เหมือนไม่หายใจ กำลังใจทรงสติสัมปชัญญะสมบูรณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์อันเดียวโดยเฉพาะ ไม่คิดถึงอะไรหมด แล้วก็แทรกมาด้วยอุเบกขารมณ์ คือความวางเฉย ตัวนี้ท่านบอกว่าจิตกับกายแยกกันเด็ดขาด ไม่ยอมรู้เรื่องของประสาท ทรงตื่นเหมือนคนตื่นอยู่อย่างธรรมดา ถ้ายังรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่ ถือว่าเรายังไม่จบ และถ้าหากว่าขณะใดขณะหนึ่งเราเข้าถึงจุดจบ คือไม่รู้ลมเข้าลมออกแล้ว ต้องพยายามรักษาอารมณ์นั้นไว้ ถ้าวันหลังบังเอิญทำไม่ถึงนั่นก็อย่ากลุ้มใจ ถือว่าปล่อยมัน มันจะได้แค่ไหนก็ช่างมัน รักษาอารมณ์สบายใจไว้เป็นสำคัญ เอาแค่สบายใจนะ รู้ลมเข้า รู้ลมออก แต่สบายใจป็นสำคัญ อย่าอยากเห็นภาพและแสงสี นี่เขาห้ามเด็ดขาด ถ้าต้องการเห็นภาพเห็นแสงสีแล้ว เห็นแล้วเข้าไปหลง มันเสียสมาธิ สมาธิจะตก อย่าไปสนใจ ไม่ใช่ของดี มันเป็นของเลว เป็นเครื่องบั่นทอนความดี นี่เป็นอันว่า ในเรื่องของอานาปานบรรพในด้านสมถภาวนาก็ไม่มีอะไรมาก ก็อธิบายมาพอจะเข้าใจ ขอให้ตั้งใจฝึกกันให้ได้ก็แล้วกัน
ทีนี้มาในตอนท้าย ท่านควบวิปัสสนาญาณไว้ด้วย การเจริญพิจารณาลมหายใจเข้าออก หรือว่ามหาสติปัฏฐานอื่น ๆ ก็ตาม ในมหาสติปัฏฐานสูตรทั้งมด หรือว่าในกรรมฐาน 40 ก็ตาม พระพุทธเจ้าทรงให้ใช้สมถะกองนั้นเป็นวิปัสสนาญาณ ท่านว่าดังนี้
“ภิกษุทั้งหลายย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในและภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาคือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมมีสติว่า กายมีอยู่ เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้าเธอนั้น แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก แต่เธอย่อมไม่ติดอยู่ด้วย ย่อมไม่ยึดถืออะไร ๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนือง ๆ อยู่อย่างนี้”
ตรงนี้เป็นวิปัสสนาญาณ ตอนพิจารณาเห็นลมหายใจเข้า หายใจออก ตอนทรงฌานเป็นสมถภาวนา ส่วนที่ท่านกล่าวเมื่อตอนต้นหมายความว่า ให้พิจารณากายเราเองบ้าง พิจารณากายบุคคลอื่นบ้าง และก็พิจารณากายเราและกายบุคคลอื่นด้วยมาเปรียบเทียบกัน น้อมเข้ามาว่า มันมีสภาพเหมือนกับว่า ตามธรรมดาร่างกายของคนและสัตว์มันก็มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น นี่เป็นเรื่องธรรมดาของร่างกาย และย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาคือ ความเสื่อมไปในกาย ให้ใช้ปัญญาหาความจริงว่า ร่างกายนี่มันมีสภาพไม่ทรงตัว มันมีความเกิดขึ้น แล้วก็มีความเสื่อมไป ถ้าดูร่างกายของเราไม่ถนัด ก็ดูร่างกายชาวบ้านที่เขาเกิดก่อนเรา หรือว่าเกิดพร้อมเรา หรือว่าเกิดทีหลังเราว่า ร่างกายมันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง หลังจากความเป็นเด็กเล็กก็มาเป็นเด็กใหญ่ จากเด็กใหญ่ก็มาเป็นหนุ่มสาว จากหนุ่มสาวแล้วก็มาเป็นคนแก่ นี่มันเป็นธรรมดา ร่างกายมันเสื่อมไปเป็นปกติ อย่างนี้เป็นของธรรมดา
ที่ให้ถือว่าเป็นธรรมดา ก็หมายความว่า ไม่ยึดมั่นมันว่าเราจะต้องเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลา เราจะต้องเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ตลอดเวลา มันจะต้องเดินเข้าไปหาความเสื่อม หาความสลายตัวเป็นปกติ ความเสื่อมของร่างกายมันมีทุกวัน ตอนเช้าตื่นขึ้นมายังไม่กินข้าว หิวก็กินข้าวแล้วมันอิ่ม อิ่มแล้วพอตอนสายหรือตอนกลางวันมันเริ่มหิว นี่รู้ไว้เลยว่า ความเสื่อมของร่างกายเกิดขึ้นแล้ว ทำไมจึงว่าเสื่อม ก็เพราะอาหารที่กินไปตอนเช้ามันเสื่อมคุณภาพ ถ้ามันไม่เสื่อมก็ไม่หิว เลยเวลาไปจากนั้นก็เสื่อมอีก เรากินกลางวันไป จากนั้นพอตกเย็นมันหิว ความเสื่อมมันปรากฎ กล่าวได้ว่า การที่มีร่างกายนี่ จะเป็นกายเราก็ดี กายเขาก็ดี หรือกายที่บุคคลเนื่องถึงกัน เช่น สามี ภรรยา พ่อ แม่ เพื่อน ทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมด มีสภาพเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีความเสื่อมเป็นปกติ เมื่อเป็นดังนี้ ท่านจึงแนะนำว่า เธอจงอย่าเอาจิตเข้าไปติดในกายนั้น ให้พิจารณาเห็นว่า ร่างกายทั้งหลายเหล่านี้มันมีอยู่ เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเรา ที่เรามองเห็นอยู่ก็สักแต่ว่าเห็นเท่านั้น คือว่า อย่าเอาจิตเข้าไปผูกพันมัน อย่าไปยึดถือว่ามันจะเป็นเราจริง เป็นของเราจริง เราจะต้องอยู่กับมัน มันจะต้องอยู่กับเราตลอดกาลตลอดสมัย จำไว้ให้ดีว่า เราจะต้องไม่ยึดถือว่า ร่างกายนี้มันเป็นเรา เป็นของเราอยู่ตลอดกาลตลอดสมัย เรามีความรู้สึกว่า เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว มันก็เสื่อมไปในที่สุด เราจะไม่เอาจิตไปคิดว่า เราจะอยู่กับมัน เราจะมีความรู้สึกว่า ไอ้ร่างกายประเภทนี้มันก็สักแต่มีขึ้นมาเท่านั้น แล้วไม่ช้ามันก็ต้องสลายไป
ในเมื่อเรายอมรับนับถือว่ามันเป็นธรรมดาแล้ว ความสะดุ้งหวาดหวั่นมันก็ไม่มี นี่ท่านบอกว่าต้องยึดถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเราเคารพกับความเป็นธรรมดาแล้วจริง ๆ เราจะเห็นพ่อตาย แม่ตาย พี่ตาย น้องตาย อาการร้องไห้ไม่มี นี่เราต้องประสบ ใครเขานินทาว่าร้ายเราก็ไม่หวั่นไหว ถือว่าคนไม่ถูกนินทาเลยไม่มีในโลก เราเกิดมาเพื่อถูกชาวบ้านนินทา จะไปหนักใจอะไรกับการนินทา ต่อมาเมื่อความตายมันเข้ามาถึง นอกจากเราจะเห็นความเสื่อมของร่างกายแล้ว เราก็ดูความตายของชาวบ้านด้วย ชาวบ้านเขาเกิดมาแล้วเขาตายให้เราดูทุกวัน สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ให้พิจารณากายภายนอก คือ คนที่เขาเกิดมาเหมือนเรา แล้วก็เวลานี้มันพังลงไปแล้ว นี่เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป มีสภาพไม่เที่ยง มันมีการสลายตัวเป็นปกติ การที่จะตั้งอยู่ได้ก็อาศัยสันตติ คือการสืบเนื่องหรือติดต่อกัน ที่เราจะเห็นว่า ลมหายใจ ถ้าเราหายใจออกไปแล้ว ไม่หายใจเข้ามันก็ตาย หายใจเข้าไปแล้วไม่หายใจออกไป ไม่นำลมเข้ามาใหม่ มันก็ตาย นี่เป็นอาการของความเสื่อมทางกาย เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป เราและเขาก็มีสภาพเหมือนกัน คือความไม่เที่ยง ความเสื่อม ความไม่ทรงตัว ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องยอมรับว่า ทุกอย่างเป็นธรรมดา ท่านจึงสอนให้เพียงว่า ให้เธอทั้งหลายจงมีความเข้าใจว่า กายนี้มันเป็นที่อาศัย ที่ระลึกถึงชั่วขณะ จงอย่าติดกายนั้น และจงอย่าติดทุกอย่างในโลกนี้ทั้งหมด
ตอนท้ายของอานาปานุสสติกรรมฐาน หรือว่าในตอนท้ายของมหาสติปัฏฐานทั้งหมด พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ ที่ตรัสอย่างนี้ก็เพราะร่างกายของเรามีลมหายใจ ลมหายใจไม่สามารถทรงกายของเราให้อยู่ได้ตลอดกาลตลอดสมัย เมื่อถึงวาระเมื่อไร ร่างกายคือลมหายใจก็หยุดทำงาน เมื่อร่างกายของเราหยุดทำงานแล้ว ธาตุลมสิ้นไป กายประกอบไปด้วยธาตุ 4 ไม่มีความสามัคคีกัน ธาตุลมหมดไป ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ไม่สามารถจะทรงอยู่ได้ ก็ต้องสลายตัวไป เป็นอันว่าตาย ทีนี้เมื่อเราจะต้องตาย เราจะเห็นอะไรบ้างในโลกที่ควรยึดถือ เห็นว่าอะไรที่จะเป็นเครื่องทรงตัวอยู่ได้ตลอดกาล มีอะไรบ้างที่จะเป็นที่พึ่งสำหรับเรา ในเมื่อเราตายไปแล้วเราก็ไม่สามารถจะนำทรัพย์สินใด ๆ ไปได้ทั้งหมด
องค์สมเด็จพระบรมสุคตทรงบอกว่า การเกิดเป็นของไม่ดี เมื่อเกิดมาแล้วมีร่างกายนี้ เราไม่สามารถจะทรงได้ ท่านทั้งหลายจึงไม่ควรยึดถือสิ่งใดทั้งหมดว่า เป็นเรา เป็นของเรา เพราะว่าสิ่งทั้งหลายที่เราถือว่าเป็นเราเป็นของเรา ความจริงมันไม่ใช่ ถ้ามันเป็นเราจริงเป็นของเราจริง มันก็ต้องไม่ตาย ไม่สลายตัวไป เป็นอันว่าองค์สมเด็จพระจอมไตรสอนไว้ เพื่อเป็นการละความเกิด หากว่าท่านทั้งหลายไม่ยึดถืออะไรทั้งหมดในโลก ตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวไว้ ขั้นสุดท้ายของอานาปานุสสติกรรมฐาน หรือมหาสติปัฏฐานเหมือนกันว่า “เธอทั้งหลายจงอย่ายึดถืออะไรทั้งหมดในโลกว่าเป็นเรา เป็นของเรา” อารมณ์ของธรรมดาจริง ๆ ยอมรับนับถือการเกิดขึ้น การเสื่อมไป การดับไปของร่างกายจริง ๆ โดยมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวมาก มีอารมณ์กระทบจิตบ้าง แต่หวั่นไหวน้อย ไม่ยึดถือมากเกินไป เวลาจะตายจริง ๆ ก็ไม่ได้ว่าอะไร อาการอย่างนี้มันเป็นของพระโสดาบัน คนที่ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาว่า นี่มันเรื่องไม่แปลก ของธรรมดา อารมณ์ของการยอมรับนับถือธรรมดาด้วยความจริงใจเป็นเรื่องของพระโสดาบันขึ้นไป
ท่านทั้งหลายก็ตั้งใจรู้ไว้เลยว่า ใครก็ตามที่ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา อารมณ์นี้มันจะรักนิพพาน เพราะมันเกลียดตัวเกิด เกิดนี่มันเป็นธรรมดาจริง ๆ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ตัวทุกข์มันตามมา เมื่อเราเห็นว่าการเกิดมันไม่ดีอย่างนี้ หาความเที่ยงไม่ได้ เต็มไปด้วยความทุกข์ด้วยประการทั้งปวง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราไม่ต้องการมันเป็นอย่างนั้น แต่กฎธรรมดามันบังคับว่าต้องเป็น ก็เลยสบายใจ เมื่อความแก่เกิดขึ้น ความป่วยไข้ไม่สบายก็เกิดขึ้น การพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็เกิดขึ้น ความตายมีมา ถึงไม่หนักใจถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา พอถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาแล้วก็เห็นว่า เกิดนี่มันไม่ดี มันเป็นอย่างนี้ ทางที่ไม่เกิดมีอยู่ก็คือ “พระนิพพาน” ถ้าเราปลดขันธ์ 5 เสียได้เมื่อไร หมายความว่า ถ้าเราไม่มีร่างกายเสียอย่างเดียว อาการอย่างนี้มันไม่ปรากฎ จิตมันก็กำหนดไว้เลยว่า ขึ้นชื่อว่าความเกิดไม่มีสำหรับเรา นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ความเกิดจะไม่มีสำหรับเราอีก ความเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี เราไม่ต้องการ หรือการที่จะมีอาการพิสมัยว่า โลกมนุษย์สวดสดงดงาม เทวโลก พรหมโลกสวยสดงดงาม มันเป็นที่น่าอยู่ ไม่มีสำหรับเรา เราต้องการอย่างเดียว อาการดับไม่มีเชื้อ โลกทั้ง 3 ไม่ต้องการทั้งหมด จิตที่เราจะกำหนดไว้ก็คือ ไม่มีกาย และก็มีนิพพานเป็นที่ไป ที่เรียกว่าท่านทั้งหลายได้เห็นธรรมดาแล้ว เป็นอันวางภาระในร่างกายเสีย นี่เป็นสักกายทิฏฐิ สักกายทิฏฐิตัวนี้นะ ตัวตัดความเข้าถึงความเป็นอรหันต์
หากท่านทั้งหลายพิจารณาสิ่งทั้งหลายอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ คำว่าเนือง ๆ ก็หมายความว่าเป็นปกติไม่ขาดสาย จิตใจของเราก็จะหมดจากความรู้สึกที่ติดอยู่ในความโลภ ที่ติดอยู่ในความรัก ติดอยู่ในความโกรธ ติดอยู่ในความหลง เพราะว่าสิ่งที่เราโลภ มันก็เป็นวัตถุของโลก ที่เรารักมันก็เป็นวัตถุของโลก ที่เราหลงมันก็เป็นวัตถุของโลก ในเมื่อวัตถุทั้งหลายซึ่งมีร่างกายเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี และวัตถุทั้งหลายอย่างอื่นก็ดี ที่เราไม่ติดมันเสียแล้ว ความโลภมันก็หมดไป ความรักมันก็หมดไป ความโกรธมันก็หมดไป ความหลงมันก็หมดไป
ข้อสำคัญ การเจริญอานาปานุสสติกรรมฐานหรืออานาปานบรรพในมหาสติปัฏฐาน ควรจะทรงกรรมฐานบทนี้ให้ถึงฌาน 4 ถ้าเราสามารถจะทำได้ หรือว่าถ้าไม่สามารถทรงฌาน 4 ได้ ก็ทรงอย่างน้อยขั้นปฐมฌาน ถ้าหากว่าเราไม่สามารถจะทรงได้ถึงปฐมฌาน ผลแห่งการเจริญวิปัสสนาญาณของท่านทั้งหลายจะไม่มีผลตามที่ต้องการ ทั้งนี้เพราะว่า ถ้าจิตของเราเข้าไม่ถึงปฐมฌานเพียงใด ถ้าเราเจริญวิปัสสนาญาณจะไม่มีโอาสได้บรรลุผล เพราะว่าจิตของเราไม่มีกำลังพอ ถ้าจิตมีกำลังถึงปฐมฌานแล้ว วิปัสสนาญาณที่ท่านเจริญก็มีกำลังกล้าพอที่จะทำลายกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานได้ คือสามารถจะตัดกิเลสเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ได้ นี่ว่ากันถึงด้านสุกขวิปัสสโก อาการของฌาน 4 นี้ ท่านกล่าวว่า เป็นอาการที่จิตแยกออกจากกายอย่างเด็ดขาด เป็นญาณที่มีความสำคัญมาก ถ้าหากท่านทั้งหลายสามารถจะทรงอานาปานุสสติกรรมฐานได้ถึงฌาน 4 แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วกล่าวว่า ถ้าหากท่านจะพิจารณาด้านวิปัสสนาญาณ ท่านมีบารมีแก่กล้าภายใน 7 เดือนได้อรหัตตผล ถ้ามีบารมีอย่างเลวที่สุด ภายใน 7 ปี ก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล
นี่เป็นอันว่า องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนในอานาปานุสสติกรรมฐานอย่างเดียว ขึ้นต้นด้วยสมถะ และก็จบด้วยวิปัสสนาญาณ ถ้าบรรดาทุกท่านใช้กำลังจิตอย่างนี้ได้ ก็แสดงว่าเจริญเพียงแค่อานาปานุสสติกรรมฐานอย่างเดียว ก็เป็นพระอรหันต์ได้โดยไม่ยาก

ผ้าชายจีวรของพระพุทธองค์เสด็จปรากฏในมือ

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่แม่ทาเคยเล่าให้ฟังถึงมูลเหตุที่จะมีโอกาสได้ไปเยือนดินแดนพรหมโลก แม่ทารำลึกบอกตนเอง “จะลองไปดูหน่อยเถอะน่าว่าจะเป็นอย่างไร เพราะสถานที่ต่างๆ เราก็เคยไปเยือนมาแล้ว” ดินแดนลึกลับต่างๆ ที่แม่ทา เคยส่งกระแสจิตไปเยือนไม่ว่าจะเป็นดินแดนนรกภูมิ สรวงสวรรค์ แดนพญานาค ครั้งนี้แม่ทาจึงอยากไปพิสูจน์ตามที่เขาเล่าขานกันมาจะเป็นจริงเพียงใด “ก็อยากไปดูซิ จะเป็นอย่างไร เพราะได้ยินแต่เสียงเล่าขานกันมานับแต่อดีต” ตกดึกคืนนั้น แม่ทาจึงได้กำหนดจิตลงสู่องค์ฌานตั้งมั่นดีแล้วจิตมีพลัง จากนั้นจึงค่อยๆกำหนดจิต กายทิพย์ค่อยๆเคลื่อนที่ลอยสูงขึ้นไปๆๆๆ กายทิพย์เคลื่อนผ่านดินแดนต่างๆจนกายทิพย์ของแม่ทาได้ลอยเคลื่อนมาถึงดินแดนหนึ่ง จิตผู้รู้ก็แสดงออกให้รับทราบ “แดนพรหมโลก”กายทิพย์แม่ทามีโอกาส เยือนดินแดนพรหมโลก ได้สัมผัสเยือนดินแดนที่ผู้คนปรารถนารองจากแดนพระนิพพาน กายทิพย์ของแม่ทาสัมผัสดินแดน พรหมโลก สัมผัสรู้ว่าพื้นนั้นอ่อนนุ่มคล้ายดังเดินไปเหยียบฟองน้ำแล้วอ่อนตัวลง จะมองไปทิศทางใดก็พบเห็นเป็นแต่พื้นแบนรายเรียบเสมอกันหมดสุดลูกหูลูกตา กายทิพย์แม่ทา ย่างเท้าสัมผัสเหยียบลงไปก็จะปรากฏให้เห็นเป็นรอยเท้าได้ชัดเจน(แม้ ณ วันนี้หากแม่ทาส่งกระแสจิตไปชมเยือนแดนพรหมโลก ก็ยังปรากฏเห็นรอยเท้าของแม่ทาได้ประทับจารึกไว้)กายทิพย์แม่ทาจึงได้ออกเดินสำรวจไปดูรอบดินแดนพรหมโลก เดินย่างเท้าลงไป ณ บริเวณใด ก็ปรากฏว่า เท้าจะจมลงสู่พื้นมองดูลึกจนถึงเข่า เดินสำรวจวนเวียนไปมาจึงหยุดมองดู เห็นเป็นแต่แสงสลัว จิตของแม่ทาจึงแสดงให้ทราบ “สิ้นสุดแล้วจะไปไหนอีก ส่วนรูปกายของเหล่าท่านพรหม บนดินแดนพรหมโลก ที่แม่ทาได้สัมผัสด้วยอาศัยจิตที่ละเอียด เพ่งพิจารณาดูก็จะเห็นเหล่าท่านพรหม มีกิริยา ท่าทางสง่างาม จะนั่ง เดิน ก็เป็นระเบียบเรียบร้อยในปีเข้าพรรษา พ.ศ.2542 แม่ทาได้นำพาคณะศิษย์ออกปฏิบัติภาวนา เป็นประจำทุกค่ำคืนตามสถานที่ต่างๆ ค่ำคืนหนึ่งแม่ทาก็ได้นิมิตเห็นพระวรกายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรากฏให้ทราบพร้อมเมตตาโอวาทแด่แม่ทา “ปฏิบัติไปเมื่อถึงวันเวลาที่เหมาะสมออกพรรษาแล้ว จะมีรางวัลมองให้ในช่วงวันตักบาตรเทโว” แม่ทาน้อมรับฟังแต่ก็ยังไม่แน่ใจต่อเหตุการณ์ที่จะมาปรากฏเพราะมิได้ใส่ใจเท่าใดนักครั้นพอถึงวันออกพรรษา พ.ศ.2542 เป็นวันตรงกับการทำบุญตักบาตรเทโว ในค่ำคืนนั้นแม่ทาก็ได้นำคณะศิษย์นับ 60 ชีวิตพาไปนั่งปฏิบัติภาวนา อยู่ ณ บ้านหนองโหน่ง บ้านอาจารย์อุมาภรณ์ ทองรักษ์, คุณไล บ้านหนองบั่ว ต.ช้างเผือก อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พอดีกับในค่ำคืนนั้นผู้เขียน(พันธกานต์ กิ้มทอง) ได้พาหมู่เพื่อนฝูงจาก กทม. ประกอบด้วยคุณวิจักษ์, คุณฐาปนี, คุณกุ้ง พี่เหมียว มากราบเยี่ยมแม่ทา และได้เดินทางมายังบ้านอาจารย์ไล พอดีกับในช่วงค่ำคืนนั้น แม่ทาได้พาคณะศิษย์บำเพ็ญสมาธิฝึกอบรมจิตสมาธิให้แก่บรรดาศิษย์นานหลายชั่วโมง ขณะนั้น จิตของแม่ทาก็ได้สัมผัสเห็นรัศมีแห่งคุณธรรมปรากฏเป็นรูปพระวรกาย ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครองผ้าจีวรสวยงามห่มจีวรแบบห่มคลุมไหล่ทั้งสอง จิตแม่ทา ได้ยลเห็นรูปพระวรกายของพระองค์ท่านยืนลอยเด่นเหนือพื้น พระบาทลอยอยู่ในนภากาศ พระพุทธองค์ทรงเมตตาประทานอนุเคราะห์แด่ผู้น้อยผู้ทุกข์ยากลำเข็ญ เข็ญใจ แด่แม่ทายิ่งนัก “ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต” จิตแม่ทาได้เห็นพระพุทธองค์ ทรงครองผ้าจีวรงามสง่า พร้อมกันนั้นพระพุทธองค์ทรงยื่นพระหัตถ์ออกมา ชายผ้าจีวรคล้ายดั่งทองคำปลิวไสวยื่นยาวออกมา ทางแม่ทานั้นจึงได้ยื่นมือขึ้นไปสัมผัสกับชายผ้าจีวรของพระพุทธองค์ที่ทอดยาวออกมาให้ได้สัมผัส ครั้นแม่ทาได้สัมผัสชายจีวรของพระพุทธองค์ก็บังเกิดเป็นเหมือนมีแรงดึงดูดระหว่างตัวแม่ทากับพระพุทธองค์ และบังเกิดแสงสายรุ้งขึ้นที่ชายจีวรนั้นทอดลงมาพุ่งมาจากจีวรสู่มือแม่ทา ครั้นได้สัมผัสก็รู้สึกว่าเหมือนมีพลังธรรมบางอย่างมาครอบงำทำให้ร่างกายแม่ทาไม่สามารถขยับเขยื้อนกายได้ ด้วยอำนาจรัศมีธรรมของพระพุทธองค์ แต่ด้วยความที่แม่ทามีสติรักษาใจไว้ได้ดี แม่ทาได้สัมผัสรับทางจิต“รับเอาไว้เอาไว้ เพราะตั้งแต่ปฏิบัติมานี่ ก็ยังไม่เคยได้รับซักครั้งให้เก็บเอาไว้รักษา” ครั้นปรากฏว่าแม่ทาได้ถอนจิตออกจากสมาธิ ผลแห่งรางวัลตอบแทนแห่งการปฏิบัติที่ปรากฏเป็นรูปธรรมได้ปรากฏมีชายผ้าผืนหนึ่งมีสีกลักเข้ม ขนาดประมาณกว้าง และยาว 10 ซ.ม. ปรากฏอยู่ในมือแม่ทาอย่างน่าอัศจรรย์ในขณะที่ถอนจิตออกมานั้นปรากฏด้วยอำนาจแสงแห่งรัศมีคุณธรรมของพระพุทธองค์ แผ่รัศมียังร่างกายแม่ทา ทำให้พลังที่แม่ทาได้รับสัมผัสมานี้ ถึงแม่ทาจะถอนจิตออกจากสมาธิแล้วก็ยังปรากฏว่าร่างกายของแม่ทาก็ยังไม่สามารถขยับเขยื้อนได้ทันทีโดยสะดวก สักพักครู่ใหญ่ ทางคณะศิษย์นำโดยอาจารย์เทพประสิทธิ์ จึงได้นำภาชนะพร้อมดอกบัวมาอัญเชิญจีวรของพระพุทธองค์ที่ปรากฏอยู่ในกำมือแม่ทา อัญเชิญมาอยู่ในภาชนะที่เตรียมรองรับ ขณะเดียวกันร่างกายของแม่ทาเองก็ยังขยับเขยื้อนลำบาก เจ็บปวดทรมานกาย เนื่องจากเวทนากายยังร้อนแรง ประกอบกับอำนาจแห่งแสงรัศมีคุณธรรมของพระพุทธองค์ ยังแผ่รัศมี แผ่พลานุภาพอยู่ คล้อยหลังสักพักใหญ่ ร่างกายของแม่ทาจึงค่อยๆกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายหลังต่อมา มีลูกศิษย์ของแม่ทาหลายๆท่านประสงค์ใคร่อยากได้จีวร ของพระพุทธองค์ไปบูชา แต่นับดูจำนวนลูกศิษย์มีจำนวนมากมาย ผ้าจีวรที่เสด็จมาในมือแม่ทามีขนาดจำกัด จึงได้จัดสรรโดยการแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ โดยอาจารย์หอมหวน เรืองยศ เป็นผู้ขออนุญาตตัดชายจีวรผืนที่เสด็จมาปรากฏอยู่ในมือแม่ทา แจกจ่ายสู่ยังบรรดาลูกศิษย์ลูกหาได้นำไปบูชากันอย่างทั่วถึงแต่ก็ยังมีผู้คนอีกจำพวกหนึ่งที่ไม่ค่อยปฏิบัติธรรมภาวนาจริงจัง จิตเป็นมิจฉาทิฐิได้รับชายจีวรพระพุทธองค์ไปก็ลบหลู่ไม่ค่อยเชื่อในเหตุการณ์ที่ปรากฏแม่ทาได้กล่าวให้ทราบในภายหลังว่า “แต่ก็มีหลายๆผู้คนที่ไม่ค่อยเชื่อในเรื่องเช่นนี้ แม่ทาจึงไม่ได้นำชายจีวรที่เหลือแจกให้ใครได้นำไปบูชา เกรงจะเป็นกรรมเพราะพระพุทธองค์ ท่านก็ทรงเมตตาสั่งสอนธรรมไว้หมดแล้ว ทุกอย่างก็อยู่ที่เรา ต้องนำมาปฏิบัติเอา เพราะถึงอย่างไร วัตถุต่างๆก็สู้การมาครองดูจิต ดูกาย ในกายตนไม่ได้” แม่ทาได้เมตตาเล่าให้ทราบภายหลังว่า หากวันที่จะมีโอกาสนิมิตเห็นพระพุทธองค์และได้สัมผัสรัศมีคุณธรรมของท่าน ในส่วนของแม่ทาจะได้สัมผัสเฉพาะวันออกพรรษา วันตักบาตรเทโว เท่านั้น
“มนุษย์เราเอ๋ย ก่อนที่เราจะเที่ยวไปขอพรจากใครคนหนึ่ง
ขอให้เราจงสำรวจตรวจตราดูอย่างต้นข้าว กว่าจะผลิรวงเป็นเมล็ดก็ใช้เวลานาน กว่าจะได้ผลผลิตดังหมายการทำการกุศล ความดีงามก็เช่นกันนั้นก็ย่อมมีกาล มีเวลาเป็นของมันเองจะไปเร่งเทพเทวดา จะเร่งบุญกุศลเช่นไรได้อย่างไรเล่า เหมือนฤดูฝนก็ย่อมมีกาลมีเวลาของมัน แล้วชะตาชีวิตคนเราก็เช่นกันเมื่อกาล นั้นยังไม่ถึงพร้อมเจ้าจะไปเร่งแสวงหา จากใครกันเล่าเพราะกรรมที่เราสร้างไว้ สมสั่งเพียรเพียงพอหรือยังศีล ทาน เมตตา กตัญญู ภาวนา อย่าลดละบูชา และปฏิบัติ แต่สิ่งที่ดีงามครั้นกาลเวลาส่งอำนวย ทั่วฟ้าจบดินแม้แต่เทวดาก็มิอาจต้านทานใน กรรมกุศลของเราไปได้”
อดทนสู้สมสั่งอบรมจิตเพื่อจิตที่ดีงามพันธกานต์ กิ้มทอง (โจ)

วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ขอเชิญ ร่วม เป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคี


ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคี


ณ. สำนักปฏิบัติธรรม ภูริทัตตะ ต.ดูกอึ่ง อ.หนองฮี จ.ร้อยเอ็ด


ในวันที่ 25-26 ตุลาคม 2551 นำโดย คุณแม่จันทา ฤกษ์ยาม


และคณะศิษยานุศิษย์ และเหล่าบรรดาญาติธรรม สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


เพื่อก่อสร้างซุ้มประตูวัดให้แล้วเสร็จ




โดยมีกำหนดการดังนี้


วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม 2551 (แรม 11 คำ เดือน 11)


ตั้งองค์กฐิน ณ.สำนักปฏิบัติธรรม ภูริทัตตะ


วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม 2551 (แรม 12 คำ เดือน 11)


เวลา 09.00 น. ทำพิธีถวายกฐินณ.สำนักปฏิบัติธรรม ภูริทัตตะ


จึงบอกบุญมายังคณะศิษยานุศิษย์ และญาติธรรมทั้งหลาย ได้ร่วมสร้างบุญบารมีในครั้งนี้ด้วยกัน


หากไม่สะดวกเดินทางไปร่วมบุญในครั้งนี้ สามารถส่งธนาณัติ


สั่งจ่ายในนาม


คุณ แม่จันทา ฤกษ์ยาม


ที่อยู่ สำนักปฏิบัติธรรม ภูริทัตตะ ต.ดูกอึ่ง อ.หนองฮี จ.ร้อยเอ็ด